‘สส.ก้าวไกล’ ซักงบดีอี จัดซื้อไม่ตรงสเปก - ศูนย์ข่าวปลอมแค่เครื่องมือ รบ.
‘สส.ก้าวไกล’ อภิปรายงบกระทรวงดีอี พบกรมอุตุฯ จัดซื้อเครื่องวัดอากาศไม่ตรงสเปกแผนงาน จัดตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอมเพื่อเป็นเครื่องมือรัฐบาล รักษาข้อมูลประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ ตั้งงบใช้หนี้เน็ตประชารัฐยาว 18 ปี
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 รายมาตรา วาระ 2 ที่มีทั้งหมด 41 มาตรา วันนี้เข้าสู่การพิจารณามาตรา 16 งบประมาณรายจ่ายกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ประเด็นที่น่าสนใจมุ่งไปที่การของบประมาณของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยนายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อธิบายตั้งข้อสังเกตการจัดตั้งงบของกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ตรงปก มีการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องตรวจวัดอากาศหลายแบบ เกี่ยวกับเครื่องบินและการจราจรทางอากาศ แต่ไม่เข้ากับแผนงานยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ถ้าปล่อยผ่านงบประมาณ 827 ล้าน จะเสียหายสืบเนื่องไปอีกหลายปีงบประมาณ เสียเงินเปล่ากว่า 3,000 ล้านบาท
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงการจัดซื้อระบบตรวจวัดชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลกและวัดฝุ่นละออง PM 2.5 (Lidar PBL) มีใบเสนอราคาเครื่องละ 18,150,000 บาท ซื้อ 2 เครื่องรวมเป็นเงิน 36,300,000 บาท ทั้งที่เคยซื้อเครื่องละ 5 ล้านบาท และนักวิทยาศาสตร์ไทยกำลังผลิตเครื่องนี้ได้ในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท สุดท้ายกรมอุตุนิยมวิทยายอมตัดงบจัดซื้อนี้ออกไป
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอตัดงบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักปลัดกระทรวง DE ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบข่าวปลอมเฉพาะกับหน่วยงานราชการเท่านั้น ทั้งที่บางเรื่องสามารถหาได้ทั่วไป ยกตัวอย่าง ข้อความที่ต้องมาคัดกรองว่าเป็นข่าวปลอมทั้งหมดกว่า 5 ล้านข้อความ พบว่าเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมดมีเพียง 539 เรื่อง และเรื่องที่สามารถเผยแพร่ได้ทั้งหมด 235 เรื่องเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ตรวจสอบแต่ที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ มีสาเหตุทั้งการประสานงานแล้วไม่มีข้อมูล จนไปถึงการตรวจสอบข้อมูลแล้วแต่ไม่เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล จึงรู้ว่าระยะเวลา 4 ปี 9 เดือน ของการก่อตั้งศูนย์ข่าวปลอม เป็นเพียงศูนย์เพื่อขออนุญาตรัฐบาลเผยแพร่ข่าวเท่านั้น ไม่มีความเป็นกลาง ไม่มีความเป็นอิสระ เป็นแค่เครื่องมือของรัฐ เพื่อผูกขาดความจริงที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้
นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพโครงการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (AOC 1441) โดยยกกรณีข้อมูลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข หลุดไป 2 ล้านรายชื่อ จึงตั้งคำถามถึงผู้รับผิดชอบ และประสิทธิภาพในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (AOC 1441) แต่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพลอกเลียนแบบเว็บไซต์เป็นตำรวจไซเบอร์เสียเอง
ส่วนนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณใช้หนี้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) : NT ในโครงการเน็ตประชารัฐ ติดหนี้ประมาณ 5,700 ล้านบาท โดยงบประมาณปี 2567 จัดสรรให้ 300 ล้านบาท ถ้าปีถัดไปจัดสรรงบประมาณให้เท่าเดิมต้องใช้เวลา 18 ปี กว่าจะใช้หนี้ NT หมด ทั้งสามารถใช้งบประมาณในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาใช้หนี้แทนได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่กลับใช้งบ กทปส. ผิดวัตถุประสงค์ไปหลายโครงการ
สุดท้ายที่ประชุมมีมติ 279 ต่อ 146 เสียง เห็นชอบให้มีการแก้ไขปรับลดงบประมาณ ตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากเสนอมา