ข่าว

‘สส.ก้าวไกล’ สงสัย 3 บริษัท ฮั้วประมูล ระบบเตือนภัยน้ำท่วม - ดินถล่ม

‘สส.ก้าวไกล’ สงสัย 3 บริษัท ฮั้วประมูล ระบบเตือนภัยน้ำท่วม - ดินถล่ม

21 มี.ค. 2567

‘สส.พรรคก้าวไกล’ ชำแหละงบกรมทรัพยากรน้ำ จัดงบซ่อมบำรุงระบบเตือนภัยน้ำท่วม - ดินถล่ม อุปกรณ์คุณภาพต่ำ ต้องซ่อมบ่อย สงสัยฮั้วประมูล 3 บริษัท เจ้าของเดียวกัน – สร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า แพงกว่าปกติ 4 เท่า

ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 วาระ 2 พิจารณามาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาระบบเตือนภัยน้ำท่วม - ดินถล่ม ของกรมทรัพยากรน้ำ 23.4 ล้านบาท เกี่ยวกับมาตรฐานการกันน้ำของอุปกรณ์ประมวลผลและควบคุมข้อมูลการตรวจวัด ต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาบ่อยครั้ง และตั้งคำถามว่า เงื่อนไขการประกวดราคาล็อคสเปคให้ผู้รับจ้างเจ้าเดิม คือบริษัทชื่อย่อ ส. ที่เคยมีคดีความเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้ากับกรมทรัพยากรน้ำหรือไม่

 

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ ยังยกเอกสารกรมทรัพยากรน้ำ เรื่องการประกวดราคาจ้างค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 วงเงิน 177.8 ล้านบาท พบว่า กิจการร่วมค้าชื่อย่อ ท. เป็นผู้ชนะการประมูล โดยบริษัทชื่อย่อ ส. ก็เข้าร่วมการประมูลด้วย แล้วพบว่าทั้ง 2 บริษัท เป็นเจ้าของเดียวกันกับบริษัทชื่อย่อ ด. ทำให้มีข้อสงสัยว่าฮั้วประมูลหรือไม่

 

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกต การตั้งงบก่อสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ 25,050 ตารางเมตร 2,044 ล้านบาท ราคาสูงกว่าการก่อสร้างอาคารทั่วไปถึง 4 เท่า และอภิปรายถึงผู้รับจ้างก่อสร้างรายนี้ ได้รับโครงการก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐ 1,529 โครงการ 1,460 ล้านบาทใน 7 ปี

นายนพณัฐ มีรักษา กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายถึงค่าจ้างที่ปรึกษาผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของรัฐ 25 ล้านบาท ระยะเวลายาว 6 เดือน ทั้งที่การเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น รวมถึงค่าสำรวจและศึกษาอื่นๆ ที่แพงเกินจริง จึงขอปรับลดงบประมาณ
 

นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ขอตัดงบ 2% เนื่องจากพบข้อสงสัย อุปกรณ์เป่าลมที่ใช้ดับไฟป่า เสนอตั้งไว้แค่ 100 เครื่องทั้งประเทศ เครื่องละ 7,000 บาท  ซึ่งช่วยทุ่นแรงนักดับเพลิงได้ ทำไม่ไม่นำมาใช้ในส่วนนี้ แต่กลับไปจัดงบประมาณจัดซื้อคุรุภัณฑ์ประจำ 18 ชุด ชุดละ 1.2 ล้านบาท รวม 21 ล้านบาท วิธีคิดแบบนี้ไม่ตอบโจทย์การทำงานจริง เพราะไม่รู้ว่าครุภัณฑ์ที่ว่าคืออะไร ไม่ระบุชัดเจน ดังนั้นการจัดงบประมาณ จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะเห็นว่าควรจัดเครื่องมือให้สอดคล้องกับความจำเป็น เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ที่ประชาชน และเจ้าหน้าที่สามารถนำไปใช้ได้ 
 

สุดท้ายที่ประชุมลงมติเห็นชอบตัดงบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 38 ล้านบาท ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก