ศาลยกฟ้อง "ชวน" หมิ่นประมาท "ทักษิณ" ปม ไฟใต้ ปิดฉาก 12 ปี
ศาลยกฟ้อง "ชวน" คดี หมิ่นประมาท "ทักษิณ" ปิดฉาก มหากาพย์ 12 ปี ปม "ไฟใต้" ชี้ มีสิทธิวิจารณ์เหตุการณ์ ในฐานะ นักการเมือง-อดีตนายกฯ
( 26 มี.ค. 2567) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำ อ.1590/2565 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2555 โดยศาลพิจารณายกฟ้อง มีรายละเอียดดังนี้
โดยอัยการโจทก์ ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิด สรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2555 เวลากลางวัน นายชวน จำเลย หมิ่นประมาท นายทักษิณ ระหว่างการบรรยายในงานเปิดงานโรงเรียนการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีข้อความเป็นการใส่ความผู้เสียหายทำนองว่า
“รูปแบบการปกครองทุกอย่างต้องพัฒนาไปข้างหน้า แต่ต้องยอมรับว่า รูปแบบการปกครองของประเทศไทยให้โอกาสมาก บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เราต้องทำ คนไทยมีศักยภาพ แต่เรามีจุดอ่อนที่นักการเมืองโกง ซึ่งมาจากธุรกิจการเมืองและอุปสรรคของประชาธิปไตย คือ การยึดอำนาจระบอบประชาธิปไตย อำนาจประชาธิปไตยจะใช้ผ่านองค์กร สถาบันทั้งนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ โดยมีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อบ้านเมืองมีปัญหาจึงเกิด องค์กรอิสระขึ้นมา เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช) คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เมื่อระบบทักษิณเกิดขึ้นก็ใช้วิธีการนอกกฎหมาย”
สําหรับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน เป็นเพราะนโยบายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่า จะแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้หมดภายใน 3 เดือนนั้น ทั้งที่ขณะนั้นไฟใต้มอดแล้ว ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อนายทักษิณ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี กลับใช้คำว่า “โจรกระจอก” และมียกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) หันมาใช้นโยบาย “ฆ่าหมดก็จบตรงนี้คือที่มาของการนองเลือดในปัจจุบันนี้…”
โดยคำพูดต่างๆ ของนายชวน จำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษ จำเลยตามความผิดด้วย
ซึ่งการรับฟังคำพิพากษาครั้งนี้ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้น นายชวน ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ในฐานะที่ตนเป็นนักการเมือง เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มีสิทธิที่จะวิจารณ์เหตุการณ์ที่ได้ประสบมา
เนื่องจากว่าในสำนวน มีการสืบพยานที่มาของคำพูด เช่น การฆ่าตัดตอน การฆ่าทิ้ง จัดการได้เดือนละ 10 คน 2 เดือนก็หมด โดยมีอดีตรองแม่ทัพภาค 4 มาเบิกความให้ โดยเป็นคนเดียวที่อยู่ในการประชุมวันที่ 8 เม.ย. 2544 ที่นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี และไปประชุมอันเกิดจากวันที่ 7 เม.ย. เกิดเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ และวันที่ 8 เม.ย. คือวันที่ให้นโยบายว่า “คนร้ายมีไม่เกิน17-18 คน ที่เป็นหัวโจก จัดการเดือนละ 10 คน 2 เดือนก็หมด” และนี่คือที่มาของปัญหาภาคใต้ ที่เกิดจากนโยบายดังกล่าวนี้ และได้มีการส่งตำรวจเข้าไปเก็บ เพราะในคำสั่งดังกล่าวดังกล่าวนั้นระบุว่า จัดการได้เดือนละ 10 คน สองเดือนก็หมด และเชื่อว่าตำรวจทำได้ ไม่พึ่งทหาร
ซึ่งอดีตรองแม่ทัพภาค 4 มีการบันทึกถ้อยคำเอาไว้แล้ว ถือว่าเป็นอีกบุคคลที่กล้ามาเบิกความ และเป็นคนเดียวในวันดังกล่าวที่กล้าติงในทำนองที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งหากเชื่อภาคใต้เราคงไม่นองเลือดแบบทุกวันนี้ ผลจากวันนั้นคือที่มาของเหตุการณ์ 4 ม.ค. 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนค่ายปิเหล็ง ได้ไปกว่า 400 กระบอก และที่ปล้นฆ่ายิงกันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากปืนที่ปล้นไปในวันนั้น ซึ่งเป็นที่มาของเหตุร้ายจนมีคนที่เสียชีวิตกว่า 7,500 คน ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดพลาดของนโยบาย ซึ่งความจริงแล้วนายทักษิณ เคยยอมรับว่า เขาผิดพลาดในเรื่องนี้ ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่า ตนในฐานะนักการเมือง และมีประสบการณ์เรื่องนี้เรื่องนี้ เพราะในสำนวนปรากฏว่า ตนได้ไปเห็นด้วยตนเอง และเรื่องนี้ได้สืบพยานทั้งหมด จึงมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง เนื่องจากคดีนี้ยาวนาน นายชวน ระบุว่า สำคัญที่สุดคือความจริง คงไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟังความจริงจากผู้ที่มีส่วนร่วมประชุมในวันนั้น และเป็นคนเดียวที่กล้าติง คือรองแม่ทัพภาค 4 ซึ่งตนอยากให้จดจำบุคคลคนนี้เอาไว้ และขณะนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการรื้อคดีความก่อนที่จะหมดอายุนั้น ตนไม่อยากให้ขาดอายุความ เพราะคดีมีเรื่องแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะโดนตำหนิได้ จึงต้องการให้สืบพยานให้จบ เพื่อคดีจะได้จบ และยุติโดยศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ