ข่าว

ทำไม ‘ธนาธร’ ซื้อบ้านปรีดี ที่ฝรั่งเศส

ทำไม ‘ธนาธร’ ซื้อบ้านปรีดี ที่ฝรั่งเศส

05 เม.ย. 2567

‘ธนาธร’ ตัดสินใจซื้อบ้านปรีดี ที่ฝรั่งเศส เป็นการต่อสู้ระหว่างการลบเลือนกับความทรงจำ ย้ำควรเป็นสมบัติของชาติ หากรัฐบาลซื้อ ยินดีขายไม่เอากำไร

หลังจากที่มีข่าวว่าบ้านอองโตนี บ้านที่นายปรีดี พนมยงค์ ใช้ชีวิตทางตอนใต้ ชานเมืองปารีส ฝรั่งเศส กลายเป็นของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ประธานคณะก้าวหน้า ไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็เริ่มมีคำถามกันว่า นายธนาธรซื้อบ้านหลังนี้ไปด้วยเหตุผลหรือไม่แรงจูงใจทางการเมืองอะไร

 

นายธนาธร บอกว่า อาจารย์ปรีดีอยู่บ้านนี้ ถ้าจำไม่ผิด อยู่บ้านนี้ 13 ปี ตั้งแต่ลี้ภัยจากเมืองจีนและไปเสียชีวิตที่บ้านนี้ ขายบ้านที่กรุงเทพฯ มาอยู่บ้านนี้ ซึ่งบ้านนี้รับแขกจากเมืองไทย คนไทยก็จะใช้บ้านอาจารย์ปรีดีแลกเปลี่ยนข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราชนิกูล นักการเมือง อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ไปฝรั่งเศส ก็ต้องไปบ้านหลังนี้ ถ้าคิดเทียบ กับสมัยนี้ก็คงเหมือนคนเดินทางไปดูไบ ก็จะรับคนที่มีความสนใจปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศไทย เป็นเรื่องคุยที่บ้านนั้นเป็นประจำ เป็นศูนย์กลางระหว่างคนไทยในยุโรปที่สนใจการบ้านการเมือง และสังคม

 

พออาจารย์ปรีดีเสีย ครอบครัวพนมยงค์ก็ขายบ้าน โดยมีครอบครัวเวียดนามมาซื้อ มีการตกลงกับครอบครัวเวียดนามว่า ถ้าจะขายต่อไป อย่างน้อยที่สุดขอให้ขายให้กับคนไทยก่อน นี่คือข้อตกลงที่ครอบครัวคนเวียดนามมีกับครอบครัวพนมยงค์ ผมเองได้ยินเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะว่าคุณยาย ที่เป็นเจ้าของบ้านสูงอายุแล้ว คุณยายอยากขายบ้านมาตั้งนานแล้ว แต่เราก็ไม่ได้คิดอะไร โดยส่วนตัวไม่อยากได้ ไม่คิดว่าจะต้องเป็นคนเข้าไปซื้อเอง

ภาพจาก สถาบันปรีดี พนมยงค์

 

คนที่เร่ขายเป็นนายหน้าให้ ก็มีคนอย่างอาจารย์จรัญ คนอย่างอาจารย์ปิยบุตร ก็ไปคุยกับนายทุน มีคนพยายามที่จะหาคนไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ เข้าไปซื้อบ้านหลังนี้ไว้ ซึ่งจริงๆ คนที่ควรเข้าไปซื้อที่สุดคือรัฐบาลไทย

 

แต่พอเข้าได้เข้าเข็ม สภาพคุณยายเจ้าของบ้านเริ่มแย่ ยังหาคนไทยซื้อไม่ได้ อาจารย์ปิยบุตรก็เลยมาบอกว่าผมคนสุดท้ายแล้ว ถ้าผมไม่ซื้อก็ไม่มีใครซื้อแล้ว ก็เลยเริ่มคุยตั้งแต่ปีที่แล้ว กระบวนการใช้เวลาทำธุรกรรมเสร็จเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แล้วตั้งใจว่าจะใช้เวลา 1 ถึง 2 เดือนนี้ ทำแผนให้เสร็จและแถลงต่อประชาชน ว่าจะเอาบ้านหลังนี้ไปทำอะไรบ้าง

 

การตระหนักรู้ทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สำคัญไม่แพ้กับการเมืองในสภา นี่คือ "การต่อสู้ระหว่างการลบเลือนกับความทรงจำ" ยกตัวอย่างอนุสาวรีย์หลักสี่หายไปทั้งอนุสาวรีย์ หมุดคณะราษฎร์ก็หายไป พวกนี้คือการรีไรท์เขียนใหม่ เขาต้องการทำให้ประชาชนลืม หน้าที่ของพวกเราคือทำให้ประชาชนจำ เพื่อตระหนักถึงความสำคัญ ในการต่อสู้ระหว่างการลบเลือนกับการปักหมุดให้เห็นคุณค่า ผมว่านั่นคือการตัดสินใจของผม ว่าทำไมถึงเข้าไปซื้อบ้านหลังนี้ แต่ก็ย้ำว่าการซื้อบ้าน คิดในเชิงการเมืองน้อยมาก จะคิดในเชิงว่าต้องการรักษาอะไรบางอย่างไว้มากกว่า

ถ้าคุณเศรษฐาอยากมาซื้อในนามรัฐบาลไทยผมยินดีขายราคาทุน ผมไม่ได้มีความคิดที่จะกอด 2475 ไว้เป็นของส่วนตัว มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ผมอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์ เราก็เติบโตจากการอ่านหนังสือหนังหา ดังนั้นถ้าจะใช้คำว่ายึด 2475 มาเป็นของพวกเรามันไม่ใช่หรอก แต่กลับกัน ที่เราต้องมาทำ เพราะว่าในภาคการเมืองมันไม่มีคนพูดเรื่องนี้ อย่างมากที่สุดคือวันที่ 11 พฤษภาคม ไปงานปรีดีที่ธรรมศาสตร์ ไปมอบดอกไม้ และต่างคนก็ต่างกลับ

 

ย้ำอีกครั้ง ถ้ารัฐบาลไทยอยากมาซื้อ กำไรบาทเดียวก็ไม่เอา เพราะจริงๆ แล้ว ควรจะเป็นสมบัติของชาติ