ข่าว

กมธ.ความมั่นคง เสนอร่าง กม.เอาผิด พวกชอบเบี้ยว ชี้แจง กมธ.

กมธ.ความมั่นคง เสนอร่าง กม.เอาผิด พวกชอบเบี้ยว ชี้แจง กมธ.

18 เม.ย. 2567

กมธ.ความมั่นคง เสนอร่าง กม.เอาผิด พวกชอบเบี้ยว ชี้แจง กมธ. ถ้าไม่มา มีความผิดทางวินัย - จริยธรรม ยืนยันว่าใช้กฎหมายเพื่อการกลั่นแกล้ง เพราะจะมีความผิดเช่นเดียวกัน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 รับหนังสือจาก นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย สส. ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.การเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ....

 

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ทางกรรมาธิกาศึกษาร่างที่จะเสนอ ต้องเน้นย้ำว่าเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมีการวินิจฉัยกำหนดความผิดอาญาในบางมาตรา ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ยังมีปัญหาในการบังคับใช้ กรรมาธิการฯ จึงประสบปัญหาและอุปสรรคในการรวบรวมข้อมูลมาศึกษา และจะทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ยาก

 

จึงได้นำเรื่องนี้หารือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงที่ประชุมของประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ และพบว่าหลายท่านก็เจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน เราจะได้มีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงหลักการในการเรียกของคณะกรรมาธิการ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

"โดยหลักการคือ จากเดิมการเรียก หากผู้ชี้แจงไม่มาตามเรียก จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา เราจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ลักษณะ ในเชิงของรัฐมนตรี จะมีความผิดเรื่องประมวลจริยธรรม ซึ่งเราเห็นว่าน่าจะมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ เราต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอยู่แล้ว ภายใต้มาตรา 129 ในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่วนอื่นๆ ก็จะมีความผิดทางวินัย ในกรณีที่ไม่มาตามคำสั่งเรียก" นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการคงไม่สามารถใช้พร่ำเพรื่อได้ เพราะในกรณีที่หากเป็นการสั่งเรียกเพื่อกลั่นแกล้ง ผู้ที่ใช้คำสั่งเรียกดังกล่าวก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้การทำหน้าที่ของกรรมาธิการออกมาดีที่สุด และเราคงจะไม่ใช้ทันที เพราะมาตรการของเราคือ ต้องมีการเชิญเป็นหลักก่อน หากไม่ได้รับความร่วมมือถึงจะใช้คำสั่งเรียกต่อไป

 

ส่วนจะมีโอกาสถูกตีความว่าร่างกฎหมายนี้เป็นร่างเกี่ยวกับการเงินหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ ระบุว่า โดยกระบวนการเมื่อยื่นร่างกฎหมายไป ทางสภาฯ ต้องมีการวินิจฉัย หากตีความว่าเป็นร่างการเงินก็จะเข้าสู่ที่ประชุมของประธานคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 35 คณะ ซึ่งจะต้องพูดคุยกันว่าจะลงมติอย่างไร แต่เราพยายามทำให้ร่างกฎหมายนี้สามารถเข้าสู่การบรรจุวาระโดยเร็ว โดยไม่เชื่อว่าจะถูกตีความเป็นร่างการเงิน นอกจากนี้ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ได้เคยเสนอร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันไปก่อนหน้าแล้ว และไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน ทางเราจึงหวังว่ากระบวนการนี้จะเดินหน้าไปพร้อมกันได้ 

 

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายครั้งนี้ ไม่ได้แบ่งว่าเป็น สส. ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล จึงบอกว่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงานของสภาฯ ซึ่งเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย และหากร่างกฎหมายบรรจุแล้วก็จะนำไปหารือกับวิปทุกฝ่ายต่อไป

นายรังสิมันต์ ยังเล่าถึงประสบการณ์ที่เจอปัญหาในการทำงานของคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ว่า หลายเรื่องที่เราพิจารณาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องความมั่นคง ชายแดน บางครั้งเรายังมีช่องว่างระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายรัฐบาล เป็นช่องว่างที่เราพยายามจะแก้ไขอยู่ 

 

"ซึ่งการที่เราจะเชิญหน่วยงานต่างๆ มาให้ข้อมูล บางทีก็มีการมอบต่อๆ กัน บางทีเราเชิญรัฐมนตรี ก็มอบต่อๆ กันไป สุดท้ายไม่ได้เจ้าหน้าที่ที่ตัดสินใจในเชิงนโยบาย ซึ่งมันก็เสียประโยชน์ ต้องยอมรับว่ามีต้นทุนในการประชุม ถ้าเราไม่สามารถได้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ สุดท้ายก็ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายได้เลย ถ้าสื่อมวลชนจำได้ บางทีเราก็ต้องใช้พื้นที่มาแถลง เพื่อเร่งให้มาชี้แจง" 

 

ด้าน นายปดิพัทธ์ ย้ำถึงการบังคับใช้คำสั่งเรียกว่า ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ แต่เมื่อถึงจังหวะที่เราต้องการคำตอบ เช่น เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่เกินของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐมนตรีจะรับผิดชอบอย่างไร ปรากฏว่าไม่มา ทำให้กรรมาธิการฯ ประชุมฟรี เสียเวลา และทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข และยังเป็นภาพที่สวยงามที่ได้เห็น สส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน พร้อมให้กำลังใจกรรมาธิการความมั่นคงฯ ด้วย ซึ่งเมื่อกรรมาธิการฯ เจอปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการประชุมไปเรื่อยๆ

 

นายปดิพัทธ์ ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยนายสฤษฏ์พงษ์ มีหลักการเหมือนกัน แต่รายละเอียดต่างกันเล็กน้อยในเรื่องตำแหน่งของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ ตนคิดว่าคงไม่มีการปัญหากับการเสนอประกบกัน ส่วนการวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงินหรือไม่ ก็จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ร่างการเงินแน่ๆ เพราะไม่ได้กระทบกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน