ปรับ ครม. เกี่ยวกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ยังไง ?
‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการพักโทษ ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล แต่ถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง โดยเฉพาะการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อาจเกิดขึ้นและจบอีกไม่กี่วันนี้ เพื่อป้องกันแรงกระเพื่อมทางการเมือง
กระแสข่าวปรับ ครม. มีมาต่อเนื่อง นายกฯ ในฐานะมีอำนาจโดยตรง พยายามบอกให้ตั้งใจทำงาน อย่าหวั่นไหว แต่นักวิชาการวิเคราะห์ตรงกันว่า บรรดารัฐมนตรีต่างรู้ว่าอำนาจที่แท้จริง อยู่กับ ‘นายใหญ่’ บ้านจันทร์ส่องหล้า และกำลังจะมีความชัดเจนในอีกไม่กี่วันนี้
ปรับ ครม. เกี่ยวอะไรกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ยังไง ?
รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองถึงอิทธิพลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่สืบทอดมาในตระกูลชินวัตรเป็นแกนนำหลัก ไม่มีใครปฏิเสธความเป็นจริงอันนี้ แม้ว่าในแง่ความเป็นทางการนายทักษิณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับพรรคเพื่อไทย แต่ในแง่ของความที่ไม่เป็นทางการ เป็นทั้งพ่อของหัวหน้าพรรค เป็นผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่เป็นรากฐานสืบเนื่องมาเป็นพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นไม่สามารถแยกระหว่างนายทักษิณกับพรรคเพื่อไทยได้ และในอนาคตนายทักษิณเอง ก็จำเป็นจะต้องมีพรรคเพื่อไทยเอาไว้ เพื่อทำให้ตัวเองมีอำนาจทางการเมืองต่อไป เพื่อเอามาต่อรองกับอะไรบางอย่างในสังคมการเมืองไทย
นายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ยกปรากฏการณ์รัฐมนตรีแห่รดน้ำขอพรนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงสงกรานต์ เกี่ยวข้องกับการปรับ ครม. โดยตรง เพราะคนที่มีสัญชาตญาณทางการเมืองที่ดีสุด ก็คือบรรดานักการเมืองนั่นแหละ เขารู้ว่าใครมีอิทธิพลต่อการปรับ ครม. เขาก็จะวิ่งไปหาตรงนั้น มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว และระยะเวลาจะช้าจะเร็ว ก็มีความเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ อย่างที่บอก ตัวพรรคเพื่อไทยเองอยากปิดเกมเร็วแน่นอน แต่พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะอยากดึงเกมช้า ที่นี้ระหว่างคนที่จะปิดเกมกับคนที่เติมเกม สุดท้ายเราอาจจะเห็นว่า อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแค่ในกลุ่มรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก ในพรรคร่วงรัฐบาลอาจจะเป็นเรื่องแซมๆ เท่านั้น
การปรับ ครม. จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หรือต้องรอยุบพรรคก้าวไกลก่อน ?
รศ.พิชาย วิเคราะห์ว่า น่าจะมีการปรับ ครม. ภายในเดือนเมษายนนี้ เพราะว่าช่วงนี้มีข่าวที่ออกมาค่อนข้างจะหนาหูอยู่เหมือนกัน ถ้าดูระยะเวลาที่จะมีการพูดคุยเจรจากัน คือหลังจากนี้ไปอีก 2 สัปดาห์ ก็น่าจะภายในเดือนเมษายน หรืออย่าช้าก็เดือนต้นพฤษภาคม น่าจะมีการปรับ ครม. เกิดขึ้นได้
ส่วนสถานการณ์ยุบพรรคก้าวไกล ยังไม่รู้ว่าจะมีการยุบพรรคเมื่อไหร่ เพราะว่าศาลก็ขยายเวลาให้ชี้แจงไปถึงวันที่ 3 พฤษภาคม และศาลอาจจะใช้เวลาพิจารณาอาจจะ 1 - 3 เดือน ก็ไม่รู้ว่านานเท่าไหร่ หากไปยึดเอาตรงนั้นเป็นเกณฑ์สำหรับปรับ ครม. ด้วย สำหรับพรรคเพื่อไทยก็คงจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองอื่นเขาก็อาจจะอยากให้มีการปรับหลังจากมีการยุบพรรคก้าวไกล หากมีความมั่นใจว่าจะเกิดการยุบพรรคก้าวไกล แต่หากพรรคก้าวไกลไม่ถูกยุบ ก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ถ้ามองในแง่ของการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เขาคงไม่อยากให้เกิดความการกระเพื่อมมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาคงจะต้องชิงปรับคณะรัฐมนตรีเสียก่อนที่จะมีการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล และคิดว่าการปรับคณะรัฐมนตรีมีแนวโน้มน่าจะยึดตามโควตาเดิมกับตอนจัดตั้งรัฐบาล เพราะหากมีการปรับเปลี่ยนโควต้าระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จะเกิดการกระเพื่อมภายในพรรคร่วมรัฐบาลครั้งใหญ่ อย่างเช่น หากพรรคเพื่อไทยอยากจะได้กระทรวงมหาดไทยมา ก็ต้องแลกกระทรวงคมนาคมกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งคนของพรรคเพื่อไทยเองก็คงจะไม่ค่อยสะดวกใจที่จะให้กระทรวงคมนาคมกับภูมิใจไทยเท่าไหร่ โดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพราะเคยพูดก่อนเลือกตั้งแล้วว่า อุตส่าห์หาเสียงตั้งนาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่ใหญ่ ไม่อยากจะให้ใคร
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าคงไม่มีการสับเปลี่ยนกระทรวงในช่วงนี้ แต่สำหรับพรรคการเมืองอื่นก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะขอปรับไปด้วย เช่น พรรคพลังประชารัฐ เขาอาจจะมีการปรับไปด้วยเช่น เอาคนของคุณธรรมนัส เช่นคุณไผ่ ลิกค์ หรือตัวแทนคนอื่นของคุณธรรมนัส จะเข้ามา เพราะเขายังคงมีโควตาเข้ามา เขาคงจะอาศัยจังหวะนี้เข้ามาด้วย ส่วนพรรคการเมืองอื่น อันนั้นก็แล้วแต่ว่าภายในพรรคจะประสงค์จะปรับหรือไม่อย่างไร แต่ดูในตอนนี้ก็ยังไม่มีวี่แววเท่าไหร่ นอกจาก 2 พรรคนี้
เช่นเดียวกับ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ที่มองว่า การปรับคณะรัฐมนตรีจะเร็วหรือช้าต้องมองเป็น 2 มุม อย่างพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรรการเมืองหลักในการจัดตั้งรัฐบาล น่าจะอยากปรับคณะรัฐมนตรีเร็ว เพื่อสยบทุกความเคลื่อนไหว ถ้าภายในเดือนนี้ได้เขาก็อย่าปิดเกมเร็ว เพราะไม่งั้นแรงกระเพื่อมไม่จบไม่สิ้น คนที่มีข่าวว่าจะโดนปรับออก เขาก็ต้องขยับขับเคลื่อนตัวเอง พยายามไม่ให้ตัวเองหลุดจากตำแหน่ง คนที่อยากเข้ามา เขาก็พยายามทุกวิถีทางที่จะเข้ามาแทน
แต่ในมุมพรรคร่วมรัฐบาล เขาอาจจะยังไม่อยากรีบ เพราะว่าเวลาพูดถึงการปรับ ครม. ในระยะเวลาเร็วๆ แบบนี้ มันต้องดูด้วยคือ พรรคเพื่อไทย โอเค เนื่องจากเป็นพรรคขนาดใหญ่ มีหลายกลุ่มหลายก้อน เวลาซัก 6 เดือน 7 เดือน ในการหมุนเวียนตำแหน่ง มันอาจจะเหมาะ แต่ว่าพรรคขนาด 30 - 40 ที่นั่ง จริงๆ เขาอาจจะอยาก 1 - 2 ปี ค่อยเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เพราะเขาไม่ได้มีกลุ่มก้อนทางการเมืองในพรรคถึงขนาดที่จะหมุนเวียนตำแหน่งกันได้ทุก 6 เดือน เพราะฉะนั้นเขาอาจไม่อยากรีบในช่วงเวลาแบบนี้ เพียงแต่ว่าเราอาจจะเห็นข่าวที่ผสมโรงมีการปรับรัฐมนตรีในกลุ่มพรรคผู้ร่วมด้วย เพราะคนที่รออยู่ จากเดิมอาจจะดีลกันไว้ว่า 1 ปี แต่ถ้าครบ 7 เดือนแล้วเข้าได้เลย ก็เอาเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าไม่มีการเปลี่ยนโควตา แต่เปลี่ยนตัวบุคคลในลักษณะเก้าอี้ดนตรี ส่วนใหญ่ก็จะกระทบเฉพาะตัวพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องการขับเคลื่อน นโยบายตรงไหนเป็นพิเศษ และกระทรวงตรงนั้นจะไปอยู่ในกลุ่มของพรรคร่วมรัฐบาลหรือเปล่า เขาก็อาจจะขอมีการเจรจาแลกเปลี่ยน แต่ในกลุ่มของพรรคร่วมรัฐบาล หากเขาไม่จำเป็นเขาก็ไม่อยากเปลี่ยนหรอก เพราะพื้นฐานที่เขาเคยร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มา 4 ปี เขาไม่เคยกันมีการเปลี่ยนกระทรวงเลย คือการที่จะลงไปทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรี แล้วก็ค่อยๆ สร้างฐานอำนาจกับบรรดาข้าราชการประจำ บรรดาที่คนที่อยู่ภายใต้ของกระทรวง มันต้องใช้เวลา วันนี้ใช้เวลา 6 - 7 เดือนกำลังได้ที่ แต่อยู่ๆ จะมาเปลี่ยนคนอีกแล้ว หรือต้องสลับไปนั่งกระทรวงอื่น คนทำงานการเมืองเขาก็ไม่มีความสุขหรอก เชื่อว่าจะไม่ค่อยมีการสลับกระทรวง แต่อาจจะมีการเปลี่ยนตัวบุคคล แต่อาจจะมีกรณีอย่างที่มีข่าว เช่น หากพรรตพลังประชารัฐ ยอมเสียบางกระทรวงไป แต่ได้คุมกระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมด เดินหน้าแนวนโยบายของตัวเองไป อย่างนี้อาจจะคุ้มที่จะแลก แต่ถ้าเกิดสลับ เช่น จากกระทรวงแรงงานไปกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างนี้มันอาจจะเป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่
ส่วนกรณีหากพรรรก้าวไกลถูกยุบ แล้วจะมีการดึง สส.เข้าพรรคร่วมรัฐบาล จะมีผลต่อสัดส่วนการปรับ ครม. หรือไม่นั้น วันนี้และสัดส่วนยังเป็นไปตาม จำนวนของ สส.ของแต่ละพรรค ถ้ามันจะมีการเปลี่ยนสัดส่วนวันนี้มันมีแค่ 2 เงื่อนไขคือ 1. หากพรรคก้าวไกล ถูกยุบ แล้วมี สส.หลุดจาก พรรคก้าวไกลแล้วไม่ไปกับพรรคใหม่ แต่มาอยู่กับพรรคที่เป็นรัฐบาล เพื่อโอกาสในร่วมรัฐบาล และ 2. ไปดึงพรรคอื่นเข้ามาเติมเสียงในรัฐบาล เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะทำให้สัดส่วนรัฐมนตรีเปลี่ยนไปแต่ถ้าหาก 2 เงื่อนไขนี้ไม่เกิด โควตาก็เป็นไปตามจำนวนเก้าอี้เดิม