ข่าว

กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน สู้รบเมียนมา ไม่มีผู้ลี้ภัยเข้าไทย

กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน สู้รบเมียนมา ไม่มีผู้ลี้ภัยเข้าไทย

19 เม.ย. 2567

กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน สู้รบเมียนมา ไม่มีผู้ลี้ภัยสงครามเข้าไทย ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ พิจารณาขยายความช่วยเหลือมนุษยธรรม อิหร่านโจมตีอิสราเอล ยังไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บ

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวถึงท่าทีของประเทศไทย ต่อสถานการณ์เมียนมาว่า รัฐบาลไทย มีการเฝ้าระวังเหตุการณ์การปะทะกัน ระหว่างกองทัพ และความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ลี้ภัย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ชายแดนไทยเมียนมาแล้ว ซึ่งจะมีการประชุมใน 1-2 สัปดาห์หน้า โดยเบื้องต้นฝ่ายไทย ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านมนุษยธรรม และพร้อมพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อสนับสนุนการพูดคุยและการปรองดอง เพื่อนำไปสู่สันติภาพในเมียนมา และฝ่ายไทยอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะเพิ่ม และขยายการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เพื่อต่อยอดการช่วยเหลือครั้งที่แล้ว ผ่านองค์กรต่าง ๆ เข้าไปยังผู้ได้รับผลกระทบในเมียนมาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการทะลักเข้ามาแต่อย่างใด 

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังยืนยันว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนฝั่งไทยยังปกติ ไม่มีผลกระทบจากผู้ลี้ภัยสงคราม หรือผู้ทะลักเข้ามาฝั่งไทย เพราะสถานการณ์เกิดในฝั่งเมียนมา

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลทหารเมียนมา ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และนายวิน มิ้นต์ อดีตประธานาธิบดีเมียนมาออกจากเรือนจำ ไปกักตัวบ้านพักส่วนตัว จะช่วยให้แนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาจะดีขึ้นหรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า มีการประเมินสถานการณ์ 2 เรื่อง ทั้งเหตุการณ์ที่ชายแดน และการปล่อยตัว ซึ่งจะต้องแยกจากกัน เพราะสถานการณ์ที่เมืองเมียวดี เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น และขณะนี้ มีการเจรจาภายในฝ่ายเมียนมาอยู่ ส่วนการปล่อยตัวนางซูจี เป็นเรื่องที่รัฐบาลเมียนมา มีแนวทางการลดโทษ เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วงเทศกาลสำคัญ ซึ่งการย้ายมากักบริเวณก็อยู่ในบริบทการลดโทษ 

ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตะวันออกกลางหลังอิสราเอล โจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรียทางอากาศ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนอิหร่านได้ตอบโต้กลับด้วยโดรนจำนวน 300 ลูกว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือคนไทยในกรณีฉุกเฉิน จากรายงานที่ได้รับ มีจำนวนคนไทยในอิสราเอล ทั้งที่พำนัก และเดินทางกลับไปทำงานแล้วรวมทั้งสิ้น 28,000 คน และมีคนไทยในอิหร่าน 300 คน ซึ่งการปะทะกันในห้วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ยืนยันว่า ยังไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบใด ๆ 

 

ส่วนตัวประกันชาวไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับกุมไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ยังคงได้รับรายงานว่า มีจำนวน 8 คน และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่