ข่าว

‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศ รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ภายในปี 2568

‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศ รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ภายในปี 2568

03 พ.ค. 2567

‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศ รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ภายในปี 2568 เพิ่มเป้าลดค่าทางด่วน เพิ่มรถเมล์ EV กระตุ้นใช้ขนส่งสาธารณะ

ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. กล่าวบนเวทีถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นวิสัยทัศน์ของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2549 วันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการคมนาคม จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ทันทีที่เป็นรัฐบาลไม่ถึงหนึ่งเดือน วันที่ 16 ตุลาคม 2566 รถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีแดงและสีม่วง ลดค่าบริการลงมาที่ราคา 20 บาท ได้สำเร็จ  ปริมาณผู้โดยสารสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 26.62% สายสีแดงเพิ่มขึ้น 14.43% 

 

จากนั้น กระทรวงการคมนาคม กางแผนโร้ดแมป เพื่อดำเนินการให้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง คิดค่าบริการตลอดเส้นทาง ‘20 บาท’ ภายในปี 2568 ผ่านร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ… หรือ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมร่าง พ.ร.บ.รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและอื่นๆ โดยสำนักงานขนส่งและนโยบายและแผนการจราจร (สนข.) ดำเนินการ จากราคารถไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 107 บาท หาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วมสำเร็จ  ประชาชนจะจ่ายเพียง 20 บาท ผ่านการมีกองทุนที่สะสมรายได้จากส่วนอื่นๆ มาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารแทนประชาชน  

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย

 

“ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เสนอทำราคารถไฟฟ้าให้เหมาะสมกับรายได้ เป็นสวัสดิการของประชาชนอย่างแท้จริง  รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คือความกล้าหาญของพรรคเพื่อไทยที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อพี่น้องประชาชน เป็นการจัดการระบบการเดินทาง ที่มีสัมปทานหลายเจ้าครั้งใหญ่ อะไรที่เคยติดขัด เป็นอุปสรรค จะถูกคลี่คลาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน”

 

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ภายในปี 2568  ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสาย , พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ต้องสำเร็จ , ลดราคาค่าทางด่วนลง , รถเมล์แอร์ EV ต้องสำเร็จ เป้าหมายใหญ่ คือเพิ่มการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว ลดปริมาณรถบนถนน แก้ปัญหารถติด แก้ปัญหาฝุ่น ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และสามารถเปิดให้ขยายทางสัญจรทางเท้า ให้ กทม.เป็นเมืองที่เดินได้ เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับขนส่งสาธารณะ ให้เป็น “การบริการสาธารณะ” อย่างแท้จริง