ดร.เอ้ ชี้ไฟไหม้ รง.คือวงจรอุบาทว์ธุรกิจรีไซเคิล
ดร.เอ้ ชี้ไฟไหม้ รง.คือวงจรอุบาทว์ธุรกิจรีไซเคิล เดินหน้า ยุติวงจรอุบาทว์ ขจัดปัญหาโรงงานสารพิษ ร้องรัฐบาลเร่งทำทันที
เป็นเรื่องร้อน ที่ต้องจับตากับปรากฎการณ์เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสารเคมี ที่ตอนนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญและถูกตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีบ่อยครั้ง
ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงอันตรายของเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีทั้งมีควันดำสารพิษ ปกคลุมเป็นวงกว้าง และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน
ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ยังตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มาให้เห็น พร้อมแสดงความเห็นถึงกระบวนการที่ซ่อนอยู่
ปัญหาในการ"แก้ปัญหา"เผาโรงงานสารเคมี
1. จากนโยบายส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิล ทำให้มีการตั้งโรงงานบำบัด"ของเสียอันตราย"ที่ขึ้นทะเบียนไว้ถึงกว่า 2 พันโรงงาน
2. เมื่อมีเยอะก็ต้องแย่งลูกค้ากัน โดยการตัดราคาค่า"บำบัด"กันอุตลุด
3. โรงงานที่ต้องการกำจัดของเสียที่เป็นภาระต้นทุนก็จะเลือกราคาที่ต่ำที่สุด
4. เมื่อได้รับงานในราคา "ต่ำที่สุด" มาแล้ว การบำบัดหรือกำจัดตามหลักวิชาการจึงแปลว่า "ขาดทุน" สถานเดียว ทางเลือกเดียวของโรงงานที่รับของเสียมาจึงใช้วิธีลักลอบนำไปทิ้งในที่สาธารณะแทนการบำบัด
5. โรงงานที่ขายของเสียให้โรงงานกำจัดก็ถือว่าหมดหน้าที่แล้ว และกฎหมายไม่ได้ห้าม จะเลือกซื้อบริการกำจัดของเสียของใครก็ได้ ราคาเท่าไรก็ตาม ตราบเท่าที่โรงงานกำจัดนั้นขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอย่างถูกต้อง
6. มีการแก้กฎกระทรวงนี้ว่าถึงส่งของเสียออกไปกำจัดแล้วแต่ถ้าถูกนำไปลักลอบทิ้ง โรงงานต้นทางเจ้าของของเสียก็ต้องรับผิดชอบด้วย
7. เมื่อมีการแก้กฎหมายตรงนี้ ก็เกิดวิธีใหม่ แทนที่จะลักลอบนำไปทิ้งในที่สาธารณะให้จับได้เหมือนก่อน ก็ใช้วิธีขนออกไปพักไว้ใน"โรงงานบำบัด"ที่ไม่มีแม้แต่เครื่องจักร ไม่มีใบอนุญาต และเมื่อถูกดำเนินคดี ก็เผาทิ้งไปทั้งโรงงานเลย (โรงงานที่จริงๆมีสภาพแค่โกดังเก็บของ)
8. ค่าปรับของการทิ้งของเสีย ปรับแค่ 2 แสน แต่ค่าบำบัดอาจจะสูงนับสิบล้าน ยอมเสียค่าปรับดีกว่า
9. มีการออกกฎกระทรวงเพื่อสนับสนุนธุรกิจรีไซเคิลด้วยการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตในการขนย้าย "ของเสียไม่อันตราย" ออกจากโรงงาน จึงมีการขน "ของเสียอันตราย" ปนออกมาด้วยเพื่อเลี่ยงขั้นตอนการขออนุญาต และฝังกลบโดยไม่บำบัด
10. โรงงานที่มี "ของเสียอันตราย"มาก ใช้วิธีไปตั้งโรงงานบำบัดหรือรีไซเคิล ปลอมๆขึ้นมาอีกโรงงาน และทำหน้าที่รับของเสียไปบำบัดหรือจริงๆคือไปกองทิ้งไว้
จากนั้นก็ "เกิดเหตุไฟไหม้" ของเสียถูกเผาทิ้งด้วยต้นทุนต่ำ และโรงงานเจ้าของกากไม่ต้องรับผิดชอบเพราะเป็นเหตุสุดวิสัยของโรงงานบำบัด
11. กรมโรงงานมีอำนาจสั่งปิดโรงงานที่ทำผิดเหล่านี้ได้ แต่ทันทีที่ใช้คำสั่ง "ปิดโรงงาน" อำนาจในการควบคุมดูแลก็ไม่ได้อยู่กับกรมโรงงานแล้ว เพราะไม่ใช่ "โรงงาน" อีกต่อไป ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นไปอีก
12. กรมโรงงานต้องเลี่ยงมาใช้คำสั่ง "ปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อปรับปรุง" ซึ่งจะทำให้ยังมีอำนาจจัดการโรงงานนี้ได้ต่อ
13. คำสั่งนี้ยิ่งเข้าทางโรงงานกำมะลอ เพราะ "ปิดเพื่อปรับปรุงแก้ไข" แต่จะให้ปรับปรุงแก้ไขอะไร เครื่องจักรยังไม่มีสักเครื่อง สุดท้ายก็ได้แต่รวบรวมกากของเสียมาแยกประเภทและจัดเก็บให้เรียบร้อย ซึ่งง่ายต่อการเผารวมหนักขึ้นไปอีก
14. หน่วยราชการนำกากของเสียไปบำบัดหรือกำจัดเองแล้วไปเรียกเก็บเงินจากผู้กระทำผิดได้ไหม 'ได้' แต่ต้องมีงบเพื่อบำบัดเป็นร้อยๆล้านที่ต้องตั้งสำรองไว้ และกว่าจะได้คืนต้องรอให้คดีในชั้นศาลสิ้นสุดก่อน
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า เหตุไฟไหม้โรงงานไม่ใช่แค่อุบัติเหตุ และไม่ใช่แค่สารเคมีรั่วไหล แต่เป็นกระบวนการเผาเพื่อทำลาย เพื่อ "ปกปิดเรื่องเน่าเสียทั้งหมด"