ข่าว

ศึกนี้ยาว ‘เศรษฐา’ ถอย พท.รุก ‘แบงก์ชาติ’ นายใหญ่ปักธงรื้อกฎหมาย

ศึกนี้ยาว ‘เศรษฐา’ ถอย พท.รุก ‘แบงก์ชาติ’ นายใหญ่ปักธงรื้อกฎหมาย

07 พ.ค. 2567

พลิกตำนานปลด 4 ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หลังรัฐประหาร 2549 กลุ่มอนุรักษ์ นิยมแก้กฎหมาย ธปท. ทำให้ฝั่งการเมืองแทบจะปลดผู้ว่าฯไม่ได้

จุดเกิดเหตุ วิวาทะเพื่อไทย-แบงก์ชาติ รอบใหม่ในงานอีเวนต์ 10 เดือนไม่รอ สัปดาห์ที่แล้ว

 

ศึกนี้ไม่จบ เศรษฐา ถอนฟืนจากไฟ ไม่ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ย้อนปมเพื่อไทยจ้องรื้อกฎหมาย ธปท.ปี 51 จากยิ่งลักษณ์ถึงเสี่ยนิด

 

พลิกตำนานปลด 4 ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หลังรัฐประหาร 2549 กลุ่มอนุรักษ์ นิยมแก้กฎหมาย ธปท. ทำให้ฝั่งการเมืองแทบจะปลดผู้ว่าฯไม่ได้

 

สงครามเย็นระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทะลักจุดเดือด เมื่ออุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เขย่าความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ทำให้เกิดแรงสะท้อนกลับไปที่พรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง


 

เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จึงพยายามลดความร้อนแรง ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อที่ร้อยเอ็ด 2 ประเด็นคือ ไม่มีแนวคิดที่จะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ และไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมาย ธปท.ปี 2551

 

ประเด็นร้อนเรื่องเพื่อไทยงัดแบงก์ชาติ ช่วงวันหยุดยาว เริ่มจาก อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย วิ่งชนกำแพงวังบางขุนพรหมในงานอีเวนต์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567

 

วาทะของลูกสาวเถ้าแก่ใหญ่ที่ว่า “กฎหมายพยายามให้ ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล จึงเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” จึงถูกตีความว่า เพื่อไทย จะแก้ ไข พรบ.แบงก์ชาติ ปี 2551 ลดความเป็นอิสระ เปิดทางให้ฝั่งการเมืองแทรกแซงได้

 

อันที่จริง พรรคเพื่อไทย กับธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง สมัยโน้น ขัดแย้งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติ ถึงขั้นมีความคิดที่จะไล่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ พ้นตำแหน่ง 


ขณะที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ตอนนั้น ตั้งรับนิ่งสงบ และขุนคลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่กล้าปลดออกจากตำแหน่ง

 

ดังที่ทราบ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ มีภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยมคือ พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายเรื่อง โดยเฉพาะการปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ทำได้ยากขึ้นกว่าในอดีต

 

 

 

ปีกอนุรักษนิยมปกป้อง


หลังรัฐประหาร 2549 รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ตัวแทนปีกอนุรักษนิยม ได้เสนอแก้ไข พรบ.แบงก์ชาติ เมื่อเดือน ส.ค.2551

 

จากกฎหมายเดิมที่ให้อำนาจรัฐมนตรีคลัง เสนอปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ โดยไม่ต้องระบุเหตุผลหรือข้อหา จึงมีการปรับปรุงแก้ไข
 
ใน พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุงปี 2551 มาตรา 28/19 (4) ให้อำนาจรัฐมนตรีคลังเสนอคณะรัฐมนตรี ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้แต่จะต้องมีเหตุผลในการสั่งปลดคือ มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่

 

นอกจากนี้ ในมาตรา 28/19 (5) ได้ให้อำนาจคณะกรรมการแบงก์ชาติ เสนอรัฐมนตรีคลังสั่งปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ด้วย หากมีความผิดบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความ สามารถ

 

สรุปว่า ตามกฎหมายใหม่ ฝั่งการเมืองแทบจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่ ได้เลย กรณีขัดแย้งเชิงนโยบาย อย่างรัฐบาลเศรษฐา กับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนปัจจุบัน 

 


ปลด 4 ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

 

70 กว่าปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง จนถึงขั้นมีการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ  4 คน จากทั้งหมด 20 คน

 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง 4 คนนั้น เกิดขึ้นตาม พรบ.แบงก์ชาติฉบับเก่า 

 

1.โชติ คุณะเกษม ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนที่ 6 ถูกปลด โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ข้อหาพัวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร

 

2.นุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คนที่ 10 ถูกปลดโดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย อาทิ นโยบายคุ้มเข้มสินเชื่อ และการเสนอตั้งสถาบันประกันเงินฝาก

 

3.กำจร สถิรกุล ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คนที่ 11 ถูกปลดโดย ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย

 


4. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คนที่ 16 ถูกปลดโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากความขัดแย้งเชิงนโยบายเรื่องค่าเงินบาท  

 

ดังนั้น การปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในยุคหลัง แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะกฎหมายฉบับใหม่ ปกป้องคุ้มครองผู้ว่าฯเต็มที่