'วิโรจน์' วอน 'สุทิน' อย่าคุย 'เรือดำน้ำ' กับจีนแบบรับจบ หวั่นไทยเสียเปรียบ
'วิโรจน์' เผย กองทัพเรือไทยไม่ได้ผิดสัญญา 'เรือดำน้ำ' เตือน 'สุทิน' ยอมเจรจารับจบ ไทยจะเสียเปรียบ CSOC ควรจ่ายอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ 200 ล้านบาทตามที่เสนอ .
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวถึงกรณีที่ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมร่วมหารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" พร้อมเปรยว่า ทางการจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่เดินทางมาไทยภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเจรจาหาข้อยุติสุดท้าย
นายวิโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลมากคือ รมว.กลาโหมจะไปดำเนินการเจรจาในแบบที่ประเทศไทยถูกเอาเปรียบ เพราะถ้าหากจำกันได้ในการอภิปรายงบประมาณ 2567 วาระที่ 1 รมว.กลาโหมเคยกล่าวในสภาฯ ไว้ว่าทั้งกองทัพเรือและบริษัท China Shipbuilding & Offshore International (CSOC) ต่างฝ่ายต่างก็เคยผิดสัญญาซึ่งกันและกัน
โดยกองทัพเรือก็เคยผิดสัญญาจ่ายเงินล่าช้าในช่วงโควิด-19 ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้วว่า กองทัพเรือจ่ายเงินให้กับ CSOC ตรงตามสัญญาตลอด ไม่เคยผิดสัญญา การที่ รมว.กลาโหมจะไปเจรจาโดยคิดไปเองว่า กองทัพเรือก็เคยผิดสัญญา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่เคยผิดสัญญาเลย ถือเป็นท่าทีที่ใช้ไม่ได้
ถ้าจะมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นก็น่าจะเป็น CSOC ที่ผิดสัญญากับกองทัพเรือ เพราะสัญญาระบุเลขรุ่นเครื่องยนต์เอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องเป็นรุ่น 16V396SE84-GB31L เท่านั้น ซึ่งจะเป็นยี่ห้ออื่นไปไม่ได้ นอกจากเครื่องยนต์ดีเซลกำเนิดพลังงานไฟฟ้า MTU396 โดยประเด็นนี้สำนักงบประมาณกลาโหมก็เคยมาชี้แจงยืนยันในกรรมาธิการการทหารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 แล้ว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า CSOC จะอ้างการที่ตนจัดซื้อเครื่องยนต์ MTU396 ไม่ได้นั้น เป็นเหตุสุดวิสัย เป็นเหตุผลที่ยอมรับไม่ได้เลย เพราะ MTU396 เป็นเครื่องยนต์ที่สามารถใช้งานได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และทางการทหาร (Dual Use) ดังนั้นก่อนที่ CSOC จะทำสัญญาต่อเรือดำน้ำขายให้กับกองทัพเรือประเทศไทย CSOC ควรต้องสอบถามจากทางเยอรมนีก่อนว่า จะขายเครื่องยนต์รุ่นนี้ให้ได้หรือไม่ จะคิดไปเองว่า เคยซื้อเครื่องยนต์ MTU396 มาต่อเรือดำน้ำเพื่อใช้ในประเทศจีนเองแล้ว ถ้าจะซื้อมาต่อเรือดำน้ำขายให้กับประเทศอื่น เยอรมนีก็ต้องยอมขายให้ คิดแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าที่ผ่านมา CSOC ไม่เคยอ้างสัญญาหรือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรใด ๆ ว่า ได้รับความยินยอมจากเยอรมนีว่าจะขายเครื่องยนต์ MTU396 ให้ ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นความหละหลวมของ CSOC เองทั้งสิ้น จะอ้างเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้
ต่อมาเมื่อกองทัพเรือทราบว่า CSOC ไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ได้ จึงได้ทักท้วงไปว่าการจ่ายเงินในงวดที่ 2 ตามสัญญาที่กองทัพเรือได้จ่ายชำระไปแล้ว CSOC จะต้องระบุรายการสั่งซื้ออะไหล่อุปกรณ์ในการประกอบเรือดำน้ำ ซึ่งเครื่องยนต์ MTU396 ก็เป็นหนึ่งในรายการอะไหล่อุปกรณ์ที่ทาง CSOC จัดซื้อ กองทัพเรือจึงได้ทวงถาม CSOC ให้ส่งหลักฐานการสั่งซื้อเครื่องยนต์ MTU396 มาให้แก่กองทัพเรือ และ CSOC ได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 โดยแนบหลักฐานมาเพียงอีเมล 2 ฉบับ
อีเมลฉบับแรกเป็นรายละเอียดที่ CSOC ขอใบเสนอราคา (Quotation) เครื่องยนต์ MTU396 จากเยอรมนี โดยเป็นอีเมลลงวันที่ 24 ธันวาคม 2561 หลังจากที่กองทัพเรือได้ชำระเงินงวดที่ 2 ให้กับทาง CSOC ไปแล้ว 4 วัน และเป็นการขอใบเสนอราคาหลังจากที่กองทัพเรือลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือดำน้ำไปแล้วถึง 598 วัน จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า CSOC เรียกรับชำระเงินจากกองทัพเรือโดยที่ยังไม่ได้จัดซื้อเครื่องยนต์ MTU396 ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายการผิดสัญญา
อีเมลฉบับที่ 2 เป็นการติดตามเรื่อง แต่ทางเยอรมนีแจ้งว่ายังไม่อนุมัติ จึงเป็นเหตุให้ CSOC ต้องเสนอเครื่องยนต์ CHD620 ที่ผลิตภายในประเทศจีนมาแทนเครื่องยนต์ MTU396 พร้อมเสนอค่าชดเชยให้กับกองทัพเรือเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท โดยเป็นส่วนลด 128 ล้านบาท และเป็นการฝึกอบรมเพิ่มเติมอีกประมาณ 70 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ นายวิโรจน์ ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยคุ้มเสี่ยงหรือไม่ ที่จะรับเอาเรือดำน้ำที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลกำเนิดพลังงานไฟฟ้า CHD620 ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือผิวน้ำ และแม้แต่ประเทศจีนเองก็ยังไม่เคยใช้ เพราะใช้แต่เครื่องยนต์ MTU396 เข้าใจว่าปัจจุบันเรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ CHD620 น่าจะมีแค่ที่ประเทศปากีสถานเพียง 1 ลำเท่านั้น
แม้ว่าเครื่องยนต์ CHD620 จะผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการจากบริษัท Lloyds มาแล้ว แต่เข้าใจว่ากองทัพเรือก็ยังไม่เห็นการทดสอบการใช้งานเครื่องยนต์ CHD620 จริงในทะเล และปัจจุบันจำนวนชั่วโมงการใช้งานจริงของเครื่องยนต์ CHD620 ก็ยังถือว่าน้อยมาก ต่างจากเครื่องยนต์ MTU396 ที่มีการใช้งานจริงมาแล้วถึง 250 เครื่อง คิดเป็นชั่วโมงการทำงานกว่า 310,000 ชั่วโมง
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ากองทัพเรือเคยไปดูการทดสอบเครื่องยนต์ CHD620 มาแล้วครั้งหนึ่ง และเพื่อความโปร่งใส กองทัพเรือได้ประสานไปยัง CSOC เพื่อขอนำผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไปร่วมดูการทดสอบเครื่องยนต์ CHD620 ด้วยอีกครั้งหนึ่ง แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากทาง CSOC โดยมีการระบุข้อความที่สะท้อนการไม่ให้ความร่วมมือเลยว่า “เสียเวลา (waste of time)”
“เครื่องยนต์ตัวนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีหน้าที่ปั่นไฟเพื่อชาร์ตแบตเตอร์รี่ให้เรือดำน้ำทำงานได้ ถ้าเครื่องยนต์ทำงานผิดพลาดก็อาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรง และที่ผ่านมาก็เคยมีรายงานอุบัติเหตุที่น่าจะเชื่อมโยงถึงเครื่องยนต์เรือดำน้ำมาแล้ว โดยเกิดปัญหาขึ้นกับเรือดำน้ำชั้น Ming หมายเลข 361 เมื่อปี 2546 เครื่องยนต์ชาร์ตไฟเต็มแล้วไม่หยุดทำงาน ดูดออกซิเจนทั้งหมดออกจากเรือดำน้ำ จนลูกเรือหมดสติเฉียบพลัน มีลูกเรือเสียชีวิตทั้งสิ้น 70 นาย โดยเครื่องยนต์ที่ใช้ ณ ขณะนั้น คือเครื่องยนต์ Shaanxi 6E 390 ZC1 ที่ผลิตในจีน” วิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าชดเชยที่คิดเป็นมูลค่าน้อยนิดเพียง 200 ล้านบาท คิดอย่างไร ก็เป็นค่าชดเชยที่เสียเปรียบมาก กองทัพเรือจ่ายชำระเงินค่าเรือดำน้ำไปแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท และมีการก่อสร้างท่าจอดเรือ ระบบสื่อสาร และโรงเก็บต่าง ๆ อีกราว 2,000 ล้านบาท รวมแล้ว 10,000 ล้านบาท จากเดิมที่กองทัพเรือจะต้องได้เรือดำน้ำลำแรกในปี 2566 แต่ขณะนี้จะต้องขยายเวลาไปอีกกว่า 1,200 วัน หรืออีก 4 ปี โดยจะได้รับในปี 2570 หากคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นภาระทางงบประมาณของรัฐบาลไทย อย่างน้อยค่าชดเชยที่กองทัพเรือต้องได้รับจาก CSOC ควรจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ 200 ล้านบาทตามที่ CSOC เสนอ
นอกจากนี้ ปัจจุบันกองทัพเรือมีแนวคิดที่จะใช้ Link Y ซึ่งอ้างอิงมาตรฐาน Link 11 และ Link 22 ขององค์การ NATO เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลของกองทัพเรือเข้ากับนานาชาติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถเชื่อมต่อการสื่อสารข้อมูลกับเรือดำน้ำจีนได้ ดังนั้น การสื่อสารกับเรือดำน้ำจะต้องสื่อสารด้วยเสียงผ่านวิทยุเท่านั้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอย่างมากในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือเอง และการปฏิบัติภารกิจร่วมระหว่างเหล่าทัพ
นายวิโรจน์ กล่าวสรุปว่า เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงประเด็นการผิดสัญญา ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ความคุ้มค่าของการชดเชย ประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจทางการทหาร ตลอดจนความจำเป็นของเรือดำน้ำ ตนจึงเสนอทางออกที่คิดว่าเป็นผลดีต่อประเทศที่สุด 2 ข้อ คือ
1) ควรยกเลิกสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำกับทาง CSOC โดยสำหรับเงินที่จ่ายไปแล้ว ถ้าคืนเป็นเงินไม่ได้ก็เจรจาให้คืนเป็นของ แต่ต้องกระทบกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยให้น้อยที่สุด เช่น ถ้าคืนเป็นเรือจะต้องไม่คืนเป็นเรือฟริเกต เพราะกองทัพเรือมีโครงการต่อเรือฟริเกตในประเทศอยู่แล้ว โดยอาจจะคืนเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) หรือเรือคอร์เว็ต หรือคืนเป็นเรือเปล่า แล้วให้กองทัพเรือเสนอของบประมาณเพื่อติดอาวุธเอง เพราะในปัจจุบันระบบอาวุธใหม่ของจีนไม่สามารถเข้ากับมาตรฐานอาวุธของกองทัพเรือ และตามสมุดปกขาวของกองทัพเรือก็ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า จะจัดหาระบบอาวุธที่เข้ากันได้กับอาวุธที่มีอยู่ของกองทัพเรือ
2) สำหรับเรือดำน้ำ หากพิจารณาจากเหตุผลของกองทัพเรือที่ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีเรือดำน้ำประจำการ และแผนการใช้เรือดำน้ำก็เป็นแผนที่ถูกร่างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็น ถ้ามองว่าจำเป็นเช่นนั้น ก็ให้กองทัพเรือเสนอคำของบประมาณเข้ามาใหม่ในปี 2569 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีนโยบายชดเชย หรือ Offset Policy พ่วงมาด้วย เช่น การจ้างอู่ต่อเรือในประเทศร่วมผลิตเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือที่ซบเซามาหลายปีจากการที่กองทัพเรือไม่ต่อเรือในประเทศไทย ซึ่ง Offset Policy นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ทำกันจนเป็นเรื่องปกติแล้ว
“สุดท้ายผมอยากจะย้ำกับคุณสุทินว่า กองทัพเรือไม่เคยทำผิดสัญญากับ CSOC ดังนั้นคุณสุทินในฐานะ รมว.กลาโหม ต้องห้ามคิดไปเองว่ากองทัพเรือของเราผิดสัญญา แล้วไปเจรจาให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ถ้าเรือดำน้ำจำเป็นก็ไม่ว่ากัน ก็ให้กองทัพเรือเสนองบประมาณเข้ามาใหม่ แล้วมี Offset Policy ที่เป็นประโยชนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพ่วงมาด้วย ผมว่าประชาชนรับได้ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันจะเอาเงินภาษีของประชาชนไปแลกเรือดำน้ำแบบได้ไม่คุ้มเสียให้ได้ สิ่งที่ผมเสนอทั้งหมดครบถ้วนแล้ว และทำได้จริง หวังว่าคุณสุทินจะพิจารณา” นายวิโรจน์กล่าว