ข่าว

06 มิ.ย. 2567

ครม.เคาะ 2 มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง ช่วงโลว์ซีซั่นตั้งแต่ 1 พ.ค.-30 พ.ย. นี้ จัดสัมมนาเมืองรองหักรายจ่ายได้ 2 เท่า

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (4 มิ.ย.) เห็นชอบมาตรการทางภาษีกระตุ้นการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ในเมืองรองช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) เพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดสัมมนาในเมืองรอง ในช่วงที่เข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นของประเทศไทย โดยเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในส่วนของประชาชนและบริษัทที่เป็นนิติบุคคล 

 

ทั้งนี้คาดว่ามาตรการนี้จะสูญเสียรายได้ตามที่กระทรวงการคลังประเมิน 1,500 ล้านบาท แต่คาดว่ามูลค่าที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจจะได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทอย่างแน่นอน

 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติมาตรการทางภาษี เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวในเมืองรองช่วง Low Season ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 2 มาตรการ ประกอบด้วย 

มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ

 

สำหรับนิติบุคคล ให้สามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 พ.ย. 2567

 

โดยสามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

 

  1. หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
  2. หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1 
  3. ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

 

 

มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง

 

สำหรับบุคคลธรรมดา สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึง 30 พ.ย. 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)

 

โดยทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) 

 

"ทั้งนี้เชื่อว่า 2 มาตรการนี้จะตอบโจทย์ 2 อย่างพร้อมๆกัน นั่นคือ กระตุ้นการเที่ยวเมืองรอง และกระตุ้นการเที่ยวในประเทศในช่วง Low Season" นายเผ่าภูมิ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า การดำเนินมาตรการข้างต้นจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,781.25 ล้านบาท ประกอบด้วย การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ประเภทภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจัดเก็บ 1,200 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คาดว่าจะใช้สิทธิ์จำนวน 2,000 ราย ขณะที่ประมาณการค่าใช้จ่ายในการสัมมนารายละ 3 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท

 

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศสำหรับบุคคลธรรมดาคาดว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 581.25 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบุคคลธรรมดาที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 250,000 ราย