ข่าว

“ศาล รธน.” นัดพิจารณาคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” 12มิ.ย.67 นี้

“ศาล รธน.” นัดพิจารณาคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” 12มิ.ย.67 นี้

11 มิ.ย. 2567

จับตา “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดพิจารณาคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” 12มิ.ย.67 กรณีที่ กกต.ยื่นคำร้อง อ้างอิงคำวินิจฉัยว่า การเสนอแก้ไข ม.112 และใช้เป็นโยบายหาเสียง เป็นการล้มล้างการปกครอง

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

11 มิ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรุ่งนี้(12 มิ.ย.2567) ศาลรัฐูธรรมนูญ นัดพิจารณา กรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) ยื่นคำร้องขอให้พิจารณา ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา

 

โดยคำร้องดังกล่าว สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1ก.พ.2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต. หลังจาก วันที่ 31ม.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย มติเอกฉันท์ ว่าการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า พรรคก้าวไกล ในขณะนั้น และ พรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

ต่อมา วันที่ 3 เม.ย.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ความคืบหน้าคดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณารับคำร้อง กกต. ยื่น ยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้อง

 

และห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่ง ยุบพรรค ผู้ถูกร้อง พร้อมสั่งให้ยื่นเอกสารชี้แจงภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

 

ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เปิดแถลงข่าว เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2567 เกี่ยวกับ 9 ข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล สรุปว่า

  1. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี
  2. กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. คำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567ของ ศาลรัฐธรรมนูญ  (กรณีเสนอแก้ มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง) ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
  4. การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
  5. การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ไม่เป็นมติพรรค
  6. โทษ ยุบพรรค ต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
  7. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
  8. จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องมีสัดส่วนสอดคล้องกับความผิด 
  9. การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

 

โดย ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดี ในวันที่ 12 มิ.ย.2567 พร้อมกำชับให้ พรรคก้าวไกล ไม่ควรแสดงความคิดเห็นใดๆ ชี้นำสังคม และกระทบการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ