เกาะติดคดียุบ “พรรคก้าวไกล” จับตา 3 ทิศทาง ของ “ศาล รธน.”
จับตา 3 ทิศทาง “ศาล รธน.” พิจารณาคดียุบ “พรรคก้าวไกล” กับแรงกระเพื่อมภายในพรรค เมื่อ “สส.งูเห่า” เคลื่อนไหว ดีลซบพรรคใหม่
12 มิ.ย.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมพิจารณา เรื่องที่ 10/2567 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ ยุบพรรคก้าวไกล และ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากมีพฤติการณ์ “ล้มล้าง-ปฏิปักษ์การปกครอง” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
สาเหตุสำคัญที่นำ ก้าวไกล มาถึงจุดนี้ หนีไม่พ้น 44 สส.ก้าวไกล ในจำนวนนี้รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค และ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน เคยยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นำไปสู่การร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลมีมติเอกฉันท์ให้ พรรคก้าวไกล ยุติการกระทำดังกล่าว เมื่อ 31 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าสนใจ ขั้นตอนของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาวันนี้ (12 มิ.ย.) แบ่งออกได้ 3 แนวทางคือ
- ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแล้ว จะนัดวันเพื่อฟังคำวินิจฉัย
- ศาลเห็นว่า พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ยังไม่เพียงพอ อาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเบิกพยานเอกสาร หรือพยานบุคคลเพื่อไต่สวนเพิ่มเติม
- ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ อาจนัดวันเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า การยื่นคำร้องดังกล่าวดำเนินการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ดำเนินการตามระเบียบว่า ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ได้ใช้ระเบียบสืบสวนไต่สวนฯ จึงไม่ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจง
นอกจากนี้ การยื่นคำร้องดังกล่าว กกต. ใช้ “เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า” เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ในการยื่นคำร้อง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าดังกล่าว จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
ฟากของ พรรคก้าวไกล ที่มีแถลงชี้แจงแนวทางต่อสู้คดีเมื่อ 9 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา ทั้ง พิธา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และ ชัยธวัช หัวหน้าพรรค ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ค่อนข้างมีความมั่นใจที่จะ “พ้นบ่วง” คดีนี้
ใน 9 ข้อต่อสู้ของ ก้าวไกล โดยยืนยันหลักการสำคัญว่า การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 (ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการกระทำ) ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นมติพรรค และไม่มีผลผูกพันคดีนี้
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจรับคำร้องกล่าวหาดังกล่าว และไม่มีสิทธิตัดสิน ยุบพรรค และ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ด้วย
ล่าสุด ชัยธวัช ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงคดีดังกล่าวว่า อย่าเพิ่ง “ด่วนสรุป” ว่าจะมีการ ยุบพรรค ตามข้อกล่าวหานี้ และคาดหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะเปิดโอกาสให้ พรรคก้าวไกล ได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยมีการเปิดไต่สวนเรียกพยานเพิ่มเติม โดยพยานที่ยื่นไปนั้นมีจำนวนมาก เพราะข้อต่อสู้มีหลายประเด็น
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ภายใน “ค่ายสีส้ม” ดูจะไม่สู้ดีนัก สวนทางกับความมั่นใจของ “แกนนำพรรค” เนื่องจากบรรดา “สส.งูเห่า” ต่างเริ่มต่อสายดีลกับสารพัดพรรคการเมืองแล้ว แม้แต่ ชัยธวัช ถึงกับออกปากยอมรับต่อสาธารณะครั้งแรกว่า ภายในพรรคมี “งูเห่า” จริง และได้รับการติดต่อจากหลายพรรคการเมืองจริง
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าว “สส.งูเห่า” ค่ายสีส้มอยู่ราว 10-20 คน แต่ปัจจุบันคาดกันว่าอาจมีมากกว่านั้น ในขณะเดียวกันกระแสข่าว “โละทิ้ง” พรรคร่วมรัฐบาลสาย “บ้านป่า” ที่กำลังคึกโครมอยู่ตอนนี้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญให้มีการ “ชอปปิงงูเห่า” กันเพิ่มเติม และเอิกเกริกกว่าทุกครั้งด้วย หวังเติมคะแนนเสียงฝ่ายรัฐบาลให้ “ปริ่มสภาฯ” เช่นเดิม
ขณะที่ “ศาสดาสีส้ม” ทั้งหลายแหล่ที่คอนโทรลอยู่หลังฉาก เริ่มผลักดันแกนนำรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมามีบทบาทแทน เพราะหากพรรคถูกยุบไป จะได้เดินหน้าลุยงานในสภาฯได้ต่อ จึงมีการเริ่มปล่อยข่าวชื่อของ “ดร.ต้น” วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร สายตรง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เข้ามาเป็นแคนดิเดตผู้นำพรรครุ่น 3 และยังเชื่ออีกว่าหากมีการยุบพรรคก้าวไกลจริง จะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง ไม่ต่างกับตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ปี 2562 ที่เป็นจุดก่อกำเนิด “ม็อบราษฎร” จนกระจายความคิด “ทะลุเพดาน” สู่สาธารณะแบบที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้
ดังนั้นการต่อสู้ทางความคิดของ “ค่ายสีส้ม” แม้อนาคตจะไม่ใช่ชื่อ ก้าวไกล แล้วก็ตาม แต่ใน “ยานพาหนะ” คันใหม่ ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อน “ปักธงทางความคิด” รื้อโครงสร้างการเมืองไทยต่อไปเช่นเดิม
จึงเป็นเรื่องที่ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ต้องแก้เกมในส่วนนี้ให้ ไม่อย่างนั้น “ความขัดแย้งทางความคิด” คงยังมีต่อไปไม่รู้จบ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ