ข่าว

เปิดคำชี้ขาด "ศาลรัฐธรรมนูญ" กฎหมายฟ้อง “ชู้”

เปิดคำชี้ขาด "ศาลรัฐธรรมนูญ" กฎหมายฟ้อง “ชู้”

18 มิ.ย. 2567

เปิดคำชี้ขาด "ศาลรัฐธรรมนูญ" เกี่ยวกับกฎหมายฟ้อง “ชู้” ชี้ชายและหญิง ต้องมีสิทธิฟ้อง "เรียกค่าเสียหาย" เท่าเทียมกัน

18 มิ.ย.2567 ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ มี คำวินิจฉัย เป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรค 2 ( กฎหมายฟ้องชู้ ) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรค 2 และวรรค 3 โดยให้ มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มี คำวินิจฉัย

 

ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าว เกิดขึ้นหลังมีนักวิชาการด้านกฎหมาย รวมตัวกันยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 1523 วรรค 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรค 1, 2 และ 3 หรือไม่

เนื่องจาก ประมวลกฎหมายแพ่งมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า '' สามี จะเรียกค่าทดแทนจาก ผู้ซึ่ง ล่วงเกินภริยาไปในทำนอง ชู้สาว ก็ได้ และ ภริยา จะเรียกค่าทดแทนจาก หญิงอื่น ที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนอง ชู้สาว ก็ได้

 

โดย เมื่อพิจารณาในมุมฝ่ายชายแล้ว จะสามารถ ฟ้องร้องเอาผิดครอบคลุมได้หลายบุคคลมากกว่า เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่ง ได้ใช้คำว่า ผู้ซึ่ง ล่วงเกินภริยาของตน อาจครอบคลุมเป็นหญิงอื่น หรือชายอื่น หรือบุคคลอื่น ๆ ก็ได้

 

แต่ในมุมของฝ่ายหญิง ประมวลกฎหมายแพ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า หญิงอื่น ดังนั้น จึงจะสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้เฉพาะกรณีที่ สามีไปมี หญิงอื่น แต่หากมีชายอื่น หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นเพศชาย ก็อาจไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

 

ทั้งที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้บัญญัติคุ้มครองบุคคล ย่อมมีความเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิ และเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติไม่ว่าความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ ภาษา ความพิการ สถานะทางกายภาพหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล หรืออื่น ๆ จะกระทำมิได้

 

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา และการพิจารณาของวุฒิสภา ในวันนี้ มีการพิจารณาแก้ไขให้บุคคลเพศเดียวกัน สามารถหมั้น และสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว ยังมีการแก้ไขครอบคลุม มาตรา 1523 ของกฎหมายดังกล่าวด้วย

 

จากเดิม บัญญัติว่า '' สามี จะเรียกค่าทดแทนจาก ผู้ซึ่ง ล่วงเกิน ภริยา ไปในทำนอง ชู้สาว ก็ได้ และ ภริยา จะเรียกค่าทดแทนจาก หญิงอื่น ที่แสดงตนโดนเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนอง ชู้สาว ก็ได้

 

โดยแก้ไขใหม่เป็น คู่สมรสฝ่ายใหฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่าย และจากผู้ซึ่งได้รับอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น และคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนอง ชู้สาว หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนอง ชู้สาว ได้

 

ดังนั้น ไม่ว่าคู่สมรสจะเป็นหญิง หรือเป็นชาย ก็สามารถเรียกค่าเสียหายบุคคลไม่ว่าเป็นหญิง หรือชายเช่นเดียวกัน ที่มาแสดงตนโดยเปิดเผยว่า มี ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว

 

สำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง กรณีเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่มาแสดงตน เชิงชู้สาว กับคู่สมรสของตนเองนั้น

 

เมื่อวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลใช้บังคับหลังจากการประกาศ 120 วัน ซึ่งหากในระหว่างนี้ เกิดการฟ้องร้องขึ้น ก็ยังต้องใช้ข้อปฏิบัติตามหลักกฎหมายเดิมไปก่อน