ข่าว

"กลาโหม" วางกรอบ "เหล่าทัพ" หักเงินเดือนทหารเกณฑ์ ย้ำ ทหารยุคใหม่ เงินเหลือใช้มากสุด

"กลาโหม" วางกรอบ "เหล่าทัพ" หักเงินเดือนทหารเกณฑ์ ย้ำ ทหารยุคใหม่ เงินเหลือใช้มากสุด

20 มิ.ย. 2567

"กลาโหม" วางกรอบ "เหล่าทัพ" หักเงินเดือนทหารเกณฑ์ ไม่ควรหัก "ค่าดูดส้วม - WiFi" ย้ำ ทหารยุคใหม่ ให้เงินเหลือใช้มากสุด ด้าน "สุทิน" ไฟเขียว พร้อมส่งจเรทหารสุ่มตรวจ

20 มิ.ย. 2567 มีรายงานล่าสุดจากกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการหักเบี้ยเลี้ยง และเงินเดือนของทหารกองประจำการในส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยหน่วยที่รับผิดชอบ กำกับดูแล รวมถึงให้การสนับสนุนการฝึกทหารใหม่ สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ตรงตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม จึงกำหนด กลุ่มค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องหักจากเงินเดือนพลทหาร คือ การหักค่าประกอบเลี้ยง ประมาณ 2,100 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 70 บาท (หรือมื้อละ 23 บาท) ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ การใช้จ่ายงบประมาณของรายการค่าเบี้ยเลี้ยง

กลุ่มที่ 2 ค่าใช้จ่ายสิ่งของที่ควรดำเนินการจัดหาให้เป็นภาพรวม โดยหักจากเงินเดือนทหาร คือ สิ่งของแรกรับ เช่น ของใช้ส่วนตัว ในรายการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณได้ เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับพลทหารที่ไม่สามารถจัดหาของใช้ส่วนตัวได้ครบ และการจัดหาคราวละมากๆ จะทำให้จัดหาได้ในราคาที่ถูกลง หากตรวจพบจัดหาแพงกว่าราคาในตลาด ผู้เกี่ยวข้องต้องจะถูกลงโทษ

กลุ่มที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่หักจากเงินเดือนทหารตามความสมัครใจ คือ รายการที่พลทหาร สามารถเลือกได้ว่าจะให้หักเงินเดือนหรือจะไม่ให้หัก เช่น ค่าบริการต่างๆ การซักรีด การตัดเย็บแก้เครื่องแบบ การใช้บริการในร้านค้าสวัสดิการ

 

 

สำหรับประเด็นมีปัญหาคือ การจัดหาชุดฝึก ชุดวอร์มเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับแจกจ่าย  3 ชุด เนื่องจากหลายหน่วยมองว่าชุดที่แจกไม่พอดีตัว จึงให้ไปตัดเพิ่มให้พอดีตัว เพื่อความสง่างาม โดยหักเงินจากทหารกองประจำการ

ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมมอบหลักการไปว่า ในยุคนี้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ทหารต้องมีเงินเดือนเหลือใช้ให้มากที่สุด จึงให้หลักการไปว่า ชุดแจกไป 3 ชุด ใช้การฝึก 2 ชุด ส่วนอีก 1 ชุด เก็บไว้ใส่กลับบ้าน ยกเว้นทหารสมัครใจไปตัดกันเอง เพราะบางคนเป็นแค่ 6 เดือน ไปให้เขาตัดชุดเพิ่ม กลับไปอยู่บ้านก็ไม่ได้ใช้ และหากมองว่า 2 ชุดไม่เพียงพอต่อการฝึก หากอีก 1 ชุดเก็บไว้ใส่กลับบ้าน ในอนาคตให้เพิ่มแจกเป็น 4 ชุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทหารกองประจำการต้องมารับผิดชอบ

ส่วนกระเป๋าเป้ สำหรับใส่ของประกอบชุดฝึก เวลาเดินทางเข้า-ออกจากหน่วยฝึก (ในกรณีที่หน่วยพิจารณาว่าสิ่งอุปกรณ์ รายการใดมีประโยชน์และมีความจำเป็น แต่ทางราชการยังไม่ได้แจกจ่าย ให้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการ ดำเนินการแจกจ่ายต่อไป มิให้หักจากเงินเดือนทหารเป็นส่วนรวม)

กลุ่มที่ 4 ค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรหักจากเงินเดือนทหาร คือ รายการที่หน่วยฝึกทหารใหม่ควรเป็น ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นๆ เช่น ค่าเครื่องช่วยฝึก ค่าเครื่องสนาม เช่น กระติกน้ำ ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างค่าดูดส้วม ค่า wifi นอกจากนี้ ยังรวมถึงชุดตรวจยาเสพติด ชุดตรวจโควิด หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ทำความสะอาด

ส่วนค่าประกันชีวิต พบว่า มีการเก็บในบางเหล่าทัพ กระทรวงกลาโหมจึงให้แนวทางไปว่า ให้นำรายได้จากสวัสดิการเชิงธุรกิจ มาดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้ โดย นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก็เห็นชอบด้วย

 

 

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า

1.ในห้วงการฝึกทหารใหม่ ไม่ควรมีการจัดหาเครื่องแต่งกาย และหรือของใช้ส่วนตัวเพิ่มเติม นอกเหนือจากรายการที่ได้รับการแจกจ่ายจากทางราชการ

2. กรณีที่จำเป็นต้องจัดหาสิ่งของเพิ่มเติม โดยใช้เงินเดือนของทหารกองประจำการ จะต้องชี้แจงให้ทหารกองประจำการรับทราบ เข้าใจประโยชน์และความจำเป็น และควรดำเนินการโดยความสมัครใจของทหารกองประจำการ

3. การจัดหาสิ่งของเพิ่มเติมให้แก่ทหารกองประจำการ ต้องอยู่ในการพิจารณาและอนุมัติของ ผบ.หน่วยทหารระดับ ผบ.พัน หรือเทียบเท่าขึ้นไป

4. การชำระค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมจากเงินเดือนของทหารกองประจำการ ในกรณีที่มีวงเงินค่อนข้างสูง ให้พิจารณาหักเงินเดือนทหารกองประจำการให้น้อยที่สุด โดยใช้วิธีการผ่อนชำระเป็นรายเดือน

5. ให้ควบคุมและกำกับดูแลราคาสินค้าที่จัดหา และจำหน่ายผ่านร้านค้าสวัสดิการ (PX) ให้แก่ทหารกองประจำการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ให้มีราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด

โดยให้ ผบ.หน่วย ทุกระดับ รับผิดชอบกำกับดูแลการปฏิบัติในภาพรวมให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเจรทหารเหล่าทัพสุ่มตรวจ หากพบไม่ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม จะต้องลงโทษอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้น