ลุ้นประกาศผลทางการ 3 ก.ค. "เลือก สว.67" กกต. เผย มีคำร้อง 614 เรื่อง
ลุ้นประกาศผลทางการ 3 ก.ค. "เลือก สว.67" เลขาฯ กกต. สรุปภาพรวมเลือกสว.ระดับประเทศ เผย มีคำร้อง 614 เรื่อง ปฏิเสธให้ความเห็นกติกาเลือกสว. ในฐานะผู้ปฏิบัติ
27 มิ.ย. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวสรุปภาพรวมการเลือก สว.ระดับประเทศ ว่า ใช้เวลาไปนานพอสมควร ทำให้คนหลายอาชีพไปอยู่รวมกันหลายชั่วโมง แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ขอขอบคุณผู้สมัครที่อาจจะดูแลได้ไม่ดี ที่ปล่อยให้รับประทานอาหารเที่ยงล่าช้า และในช่วงภาคค่ำเราได้จัดอาหาร ทั้งอาหารค่ำอาหารว่างและรอบดึกด้วยแต่ก็น่าเห็นใจ
"เพราะเป็นผู้ทรงคุณธรรมวุฒิ และไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวตลอด ก็กลัวว่าครอบครัวจะเป็นห่วงแต่ผู้สมัครก็ไม่ได้แสดงอาการ ที่ไม่พอใจ เราก็อยู่ด้วยกัน ทางผู้สมัครเจ้าหน้าที่กกต และนักข่าวอยู่ด้วยกันตลอด รู้สึกอบอุ่น ก็ทำให้เพราะเราได้กินมาม่าจากหม้อน้ำร้อนเดียวกัน เป็นความใกล้ชิดกันนี่เป็นบรรยากาศที่เจอเมื่อวานนี้" นายแสวง กล่าว
ส่วนของการจัดงานเลือก สว. ได้มีการประกาศผลคะแนน สว. แล้ว กลุ่มละ 10 คน และมีสำรอง กลุ่มละ 5 คน รวมจำนวน 200 กับ 100 คน ในฐานะผู้อำนวยการระดับประเทศ ก็ได้แจ้งผลไปยัง กกต.แล้วในวันนี้ ในช่วงเวลา 06.00 น ที่ผ่านมา เพื่อรายงานต่อกกต. ตามมาตรา 42 ของ กกต. ก็จะต้องพิจารณาประกาศผล แต่ก็ต้องรอไว้ไม่น้อยอีก 5 วัน หรือ วันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นวันไหน
ส่วนการร้องในการดำเนินการ ของเจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาร้องได้ที่ กกต. และศาลฎีกา หากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการเป็นไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีพบว่าการเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม สามารถร้องมายังกกต.ได้
ส่วนข้อสังเกตและความผิดปกติของการลงคะแนน นายแสวง ได้มีการอธิบายไปว่า ถ้าระเบียบเก่าอยู่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นน้อย แต่เมื่อระเบียบเราถูกยกเลิกก็ต้องมาดูกฎหมาย ต้องมาดูว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ การบล็อกโหวต ไม่มีใครเคยบอกว่าผิดกฎหมาย แต่ต้องบอกว่าการกระทำเหล่านี้กับกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดหรือไม่
และมีองค์ประกอบความผิดอย่างไร ซึ่งกกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการกระทำที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องดูที่ผลประโยชน์ว่ามีการแลกผลประโยชน์กันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก็จะรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดในทุกเรื่อง เช่น ในโรงแรมที่ต้องตรวจสอบว่ากลุ่มไหนเข้าไปพัก ใครจ่าย ใครให้เงิน ทั้งนี้ เมื่อคะแนนเท่ากันหลายคนก็เป็นข้อสังเกตให้ต้องสอบหาข้อเท็จจริง
โดยคำร้องล่าสุด 614 คำร้อง เรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อ 400 กว่าคำร้อง , คำร้องเรื่องความไม่สุจริต, คำร้องจ้างให้ลงคะแนนรวมถึงคำร้องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่, คำร้องที่บอกว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง
ส่วนมีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสว. เป็นกลุ่มของคนของพรรคการเมืองใหญ่ นายแสวง กล่าวว่า มีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ หรือเข้าองค์ประกอบของกฎหมายหรือไม่ เราอยากให้การเลือกสุจริตและเที่ยงธรรมพยายามเอากฎหมายมาใช้ให้ได้ มีคนบอกว่ามีโพยมีบล็อกโหวต แต่ไม่มีใครกล้าบอกว่าผิดกฎหมาย จึงต้องมีการสืบว่ามีการให้ผลประโยชน์กันจริงหรือไม่ เราจึงต้องหาหลักฐานตรงนี้
นายแสวง ยังชี้แจงสาเหตุใช้เวลานานในการเลือก ว่า ไม่คิดว่าจะเลือกนาน ตอนเช้าใช้เวลาลงเลขอารบิก 10 หมายเลขต้องอ่านแต่ละกลุ่ม 1,500 ราย ชื่อ แต่อ่าน 20 กลุ่มพร้อมกัน และช่วงบ่าย เหลือกลุ่มละ 40 คน ดูเหมือนคนน้อย แต่ใช้เวลาอ่านถึง 8,000 ครั้ง 4 ใบ ลงได้ 5 เบอร์ และอ่านทุกสายพร้อมกัน แต่ต้องอ่านทีละกลุ่ม จะเร่งก็ไม่ได้ ต้องอ่านให้ชัดเจน
ส่วนที่มีรายงานว่าพบความผิดปกติในห้องน้ำชายนั้น นายแสวง กล่าวว่า มีเรื่องคุยกันในห้องน้ำจริง แต่ไม่มีใครจ่ายเงินกันในห้องน้ำ แต่หากจะมีการจ่ายหลังจากจบก็ต้องไปสืบข้อมูลกันต่อ และคงไม่มีการส่งโพยกัน เพราะมีคนของเราติดตามอยู่ในนั้น แต่ถ้าจะทำโพยจริงก็น่าจะทำมาจากบ้านแล้ว
ซึ่งการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องไม่ง่าย ที่จะสืบหาข้อเท็จจริง และกรณีที่มีการร้องเรียนในระว่างการเลือกเมื่อวานนี้ ว่าคะแนนขณะขานนับกับคะแนนสรุป เป็นคะแนนที่ไม่ตรงกัน เท่าที่ตนทราบข้อมูล ผู้สมัครขีดเอง และมีการบอกว่าผมถูกหักหลัง
เมื่อถามว่า มองที่ผู้ได้รับเลือกส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากพรรคการเมือง นายแสวง กล่าวว่า ไม่มองยังไง สำหรับตนผู้สมัครเท่ากันหมด แต่ถ้ายังใช้ระบบนี้อยู่ ในอนาคตหากต้องเลือกแบบนี้อีก การบริหารจัดการน่าจะดีขึ้น
หากย้อนกลับไปได้มีอะไรที่ต้องแก้ไขหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า มันเกินกำลังคนตัวเล็กๆ อย่างผม แต่ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย พร้อมปฏิเสธที่จะความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบกติกา ว่าจะต้องมีการแก้ไขหรือไม่