ข่าว

อนุฯ กมธ. แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เชิญเอกชนชี้แจง 25 ก.ค. นี้

18 ก.ค. 2567

อนุฯ กมธ. แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เชิญเอกชนชี้แจง 25 ก.ค. นี้ พร้อมขอตัวอย่างดินฝังกลบปลาเพื่อตรวจดีเอ็นเอ ตั้งข้อสังเกตวิจัยระยะสั้น เพียง 10 วัน แล้วล้มเลิกเฉยๆ

18 ก.ค. 2567 ที่ อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ว่าในการติดตามข้อเท็จจริง มีผลสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น

1. การติดตามเอกสารการนำเข้าปลาชนิดนี้ ที่อธิบดีกรมประมงจะส่งสำเนามาให้คณะอนุฯ และจะไปที่กรมประมงในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อดูห้องเก็บซากปลา และติดตามกระบวนการนำเข้าสัตว์จากต่างชาติมีมาตรการรัดกุมแค่ไหน

2. ข้อถกเถียง ข้อเท็จจริงการส่งออกปลาสายพันธุ์นี้ ปี 2556 ถึง 2559 ซึ่งอธิบดีฯ ชี้แจงว่ามีการส่งออกปลาจริงใน 17 ประเทศทั่วโลก 230,000 ตัว โดยบริษัทเอกชน 11 บริษัท สันนิษฐานได้ว่าปลาชนิดนี้ไม่มีอยู่ในราชอาณาจักรไทยมาก่อน เจอครั้งแรกปี 2555 ที่กรมประมงได้รับก่อนที่จะแพร่ระบาดในคลองสาธารณะ และในช่วงนั้นไม่ได้ขึ้นทะเบียนปลาสายพันธุ์นี้เป็นปลาต้องห้าม

ทั้งนี้ กระบวนการวิจัยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องส่งตัวอย่างซากปลา 50 ตัว โดยมีการเปิดรายงานของคณะกรรมการ IBC ปี 2553 ระบุเงื่อนไขการอนุญาต 4 ข้อ ซึ่งหากเอกชนรับอนุญาตนำเข้าต้องทำตามเงื่อนไข 4 ข้อ

คือต้องส่งตัวอย่างครีบปลาก่อนการวิจัย ที่ประชุมคณะอนุจึงมีมติทำหนังสือถึงบริษัทเอกชน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ให้เข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการในวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.ค. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่าได้ดำเนินการตามเงื่อนไข 4 ข้อ หรือไม่ หากทำไม่ครบ 4 เงื่อนไข หมายความนำเข้าไม่ครบองค์ประกอบ

พร้อมกับชี้แจงเหตุผลที่สอบข้อเท็จจริง ว่าหากไม่มีกระบวนการที่รัดกุมในการนำเข้าปลาโดยเฉพาะปลาที่ทำลายต่อระบบนิเวศในอนาคตจะทำให้ไทยเจอเอเลี่ยนสปีชีส์อีกหลาย 100 สายพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งจะได้รับทราบถึงดีเอ็นเอของปลาที่ระบาดตรงกับปลาที่นำเข้ามาของบริษัทเอกชนหรือไม่

 

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล

 

 

ส่วนเรื่องการเอาผิด นายณัฐชา กล่าวว่า ได้เชิญอุปนายกสมาคมทนายความ ให้ข้อเสนอแนะในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการทำผิดทางละเมิด เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย โดยจะนำข้อมูลจากกรรมาธิการไปประกอบการพิจารณาฟ้องร้องต่อไป

ส่วนโทษที่ห้ามนำเข้า ตราสายพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายฉบับเก่าอาจจะไม่รุนแรง หรือไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ โดยฝ่ายนิติบัญญัติจะนำไปพิจารณาแก้ไขต่อไป แต่การรับผิดชอบมีอยู่ 2 ทาง คือหนึ่งรับผิดชอบตามกฏหมายและสองการรับผิดชอบตามจิตสำนึก

ขณะเดียวกันข้อมูลเรื่องซากปลาระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐยังสวนทางกัน ซึ่งบริษัทเอกชนได้ยืนยันว่าได้ส่ง ซากปลามาให้ กรมประมงแล้ว ในขณะที่กรมประมงบอกไม่ได้รับ ดังนั้นหากภาคเอกชนส่งแล้วจะต้องมีเอกสาร หรือภาพถ่ายยืนยัน โดย 25 ก.ค. จะพูดคุยรายละเอียดกับภาคเอกชน ถึงแนวทางการนำตัวอย่างดินที่อ้างอิงว่ามีการฝังกลบปลาเพื่อมาตรวจดีเอ็นเอปลา หากไม่อนุญาตก็จะใช้วิธีการทางกฎหมาย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตเหตุใดโครงการดำเนินการระยะสั้นเพียง 10 วัน และล้มเลิกไปเฉยๆ

"ในสัปดาห์หน้าเราได้มีการพูดคุยกันในหลายภาคส่วน สส. ในหลายพื้นที่ และในฐานะ สส. ได้เรียนประธานวิป ฝ่ายค้านต้องการนำเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในสัปดาห์หน้า วันพฤหัสบดีเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อเชิญฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มาร่วมทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงภาคเอกชน เพราะว่าเรื่องนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกเป็นวาระแห่งชาติ" นายณัฐชา กล่าว