ข่าว

แฉกลางวง อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ "เลขาฯ ไบโอไทย" เปิดหลักฐานการระบาด

01 ส.ค. 2567

แฉกลางวง อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ "เลขาฯ ไบโอไทย" เปิดหลักฐานการระบาด ด้าน หมอวาโย ซัดเอกชนทำผิดเงื่อนไข ไม่ตัดครีบ ส่งซากทำลาย ฟังไม่ขึ้นอ้างคนละส่วน จี้ ภาครัฐเอาผิดทางแพ่ง

1 ส.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIO Thai) ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา จากการนำเข้าปลาหมอคางดำ ว่าฟาร์มฯ เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพราะบริษัทฯ เป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และได้ทำการละเมิดกฎความปลอดภัยทางชีวภาพซ้ำซากตั้งแต่ปี 2554-2565

ทั้งกรณีนำเข้าปลาหมอคางดำ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ออกมายืนยันแล้วหลังจากการลงพื้นที่และการนำเข้าปลาเก๋าหยก ในปี 2555 โดยกรมประมงได้กำหนดเพิ่มเงื่อนไขการนำเข้า และในรายงานการระบาดของกรมประมงและชุมชนก็สอดคล้องกัน ว่าพบปลาหมอคางดำในคลองรอบฟาร์มยี่สารเป็นครั้งแรก

ขณะที่กรมประมงยืนยันว่าพบปลาหมอคางดำในฟาร์มฯ เมื่อปี 2560 อีกทั้งคำอธิบายของบริษัทเอกชน เรื่องปลาตายและการส่งตัวอย่างไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีหลักฐานมายืนยัน ซึ่งไบโอไทยได้รับข้อมูลมาจากอดีตพนักงานฟาร์มฯ

นอกจากนี้ในเอกสารของกรมประมงที่ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ในปี 256-2562 ก็ได้ระบุชัดเจนว่าการระบาดเกิดใน 7 คลอง คือคลองดอนจั่น คลองหลวง ซึ่งติดกับฟาร์มฯ คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน คลองผีหลอก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 2 ตำบลแพรกหนามแดง และอำเภอยี่สาร ซึ่งคลองเหล่านี้เป็นเครือข่ายของคลองรอบๆ ฟาร์มฯ และคนในพื้นที่ยืนยันตรงกันระบาดเกิดขึ้นปลายปี 2554 ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อปรากฏพยานหลักฐานชัดเจน มีเหตุผลอื่นหรือไม่ ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้

 

 

เลขาไบโอไทย ยังเปิดเผยว่ามีการลงพื้นที่พบปลาหมอคางดำ 10 ตัว ซึ่งเป็นสารชีวภาพ และกรมประมงได้นำ DNA ไปตรวจจนมีข้อสรุปว่าปลาหมอคางดำ มีแหล่งที่มาเดียวกัน และเป็นการนำเข้าเพียงครั้งเดียว จึงอยากให้มีการเชิญนักพันธุศาสตร์มาตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง

ส่วนกรณีที่เอกชนนำหลักฐานเรื่องปลาตายมาอธิบายต่อสาธารณชน เป็นครั้งแรก ว่าปลาตายเกิดขึ้นปี  2553 และปี 2554 ตายหมด หลังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบ อีกทั้งไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ว่ามีการส่งตัวอย่างให้กรมประมง นอกจากเอกสารชี้แจง แต่สังคมถูกทำให้เชื่อเพราะเป็นบริษัทใหญ่ มีความน่าเชื่อถือ แต่ไบโอไทยคิดว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้น เพื่อเบี่ยงเบนจากการระบาดที่แท้จริง รวมถึงเลี่ยงความรับผิดชอบหรือไม่

"สังคมและหน่วยงานต่างๆ แม้กระทั่งกรมประมง เพิ่งทราบว่ามีปลาตายตอนเมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปตรวจสอบเรื่องนี้ คำอธิบายปลาตายจากบริษัทเอกชน เป็นคำอธิบายต่อ กสม. เพื่อชี้ให้เห็นว่าฟาร์มฯ ไม่ได้เลี้ยงปลาหมอคางดำเลย ตนขีดเส้นใต้ว่าสิ่งอธิบายต่อ กสม. เลี้ยงในบ่อปิด คำว่าบ่อซีเมนต์มาภายหลัง ไบโอไทยเปิดเผยเป็นบ่อดิน คำว่าบ่อปูนก็มาภายหลัง สังคม ตัวผมและคณะกรรมาธิการก็ลงพื้นที่ตามหา DNA มีตึกสร้างทับ ตัวอย่างถูกคลอรีนทำลาย ยากมากที่จะไปตามหาที่นั่น"

 

 

นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยแผนที่ฟาร์มฯ ปี 2560 โดยภายในฟาร์มพบบ่อเลี้ยงกุ้ง และปลาหมอคางดำ เลี้ยงในบ่ออนุบาลและบ่อผสมพันธุ์ และทำการผสมพันธุ์ปลาหมอคางดำแบบไฮบริด เป็นการเพาะเลี้ยงในบ่อดินและในกระชัง โดยบ่อพักน้ำติดกับคลอง 3 สาย  และฟาร์มแห่งนี้นอกจากเลี้ยงปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำไฮบริด คือปลาหมอคางดำผสมปลานิล ปลาเก๋าหยก ปลาจะละเม็ดครีบสั้น

ระบบน้ำในฟาร์มเป็นระบบปิด แต่หากน้ำในบ่อหายไปก็จะมีการดึงน้ำในคลองเข้ามาแทน ซึ่งปลาในระบบจะหลุดไปอยู่ในบ่อบำบัดคลองส่งน้ำ เมื่อมีการเคลียร์บ่อบำบัดน้ำ ก็จะสูบน้ำทิ้งนอกฟาร์ม เป็นจุดที่ทำให้ปลาหลุดออกไปสู่คลองธรรมชาติ

ด้านฝ่ายกฎหมาย กรมประมง แย้งต่อที่ประชุมว่ากรมประมงระบุว่าเจอปลาหมอคางดำที่บ่อน้ำ ไม่ได้บอกว่าเจอที่บ่อเลี้ยง

ด้าน นายแพทย์ วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากการรับฟังฝ่ายกฎหมายและผู้เกี่ยวข้อง สามารถเอาผิดได้ 3 ทาง คือ คดีแพ่งคดี คดีอาญาและคดีทางปกครอง ซึ่งในส่วนของคดีทางปกครองมีบางภาคส่วนร้องเอาผิดกับกรมประมงต่อศาลปกครองแล้ว แต่วันนี้ที่ประชุมได้มีการเปรียบเทียบ พ.ร.บ.กรมประมง 2490 ที่ใช้บังคับในช่วง ปี 2553 และปี 2554 กับพ.ร.ก. ประมง 2558

ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการพูดว่าไม่สามารถเอาผิดกับผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตแต่ไม่ทำตามเงื่อนไข แต่นักวิชาการให้ข้อมูลว่าหากผู้ได้รับอนุญาตและไม่ทำตามเงื่อนไขที่ปรากฏอยู่ จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายกรมประมง บอกว่าเป็นคนละส่วนกัน ใบอนุญาตเป็นอีกส่วน แต่ในเอกสารปี 2553 ได้มีการกำหนดเงื่อนไข 2 ข้อ คือปลาที่นำเข้าจะต้องตัดครีบแล้วทำลาย และส่งตัวอย่างให้กรมประมง แต่ไม่ได้ทำตาม ถือว่าไม่ได้ทำตามเงื่อนไขตามมาตรา 36 จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่

แต่กรมประมงยืนยันว่าในใบอนุญาตไม่ได้มีการระบุเงื่อนไข ซึ่งจากข้อเห็นแย้งนี้สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ชัดว่าหากกระดาษอยู่คนละแผ่น แต่เป็นเรื่องเดียวกัน จะต้องพิจารณาร่วมกัน ประเด็นใหม่ว่าวันนี้ กรมประมงได้ปฏิบัติตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การประมง 2490 หรือไม่ เรื่องที่ทางบริษัทเอกชนไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทั้งเรื่องการเก็บครีบและส่งซาก  ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้มีการกำหนดกรอบเวลาไว้หรือไม่

ส่วนการเอาผิดทางอาญา อาจจะยาก พระองค์ประกอบความผิดในกฎหมายเก่าและใหม่ ยากในการเอาผิด แต่สามารถเอาผิดทางแพ่งได้ ซึ่งสภาทนายความกับภาคประชาชนก็ได้ดำเนินการแล้ว ขณะที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเอาผิดทางแพ่ง กับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ เช่น อบต. อบจ. ที่เยียวยาประชาชน ก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องไล่เบี้ยกับเอกชนได้

ในส่วนของรัฐก็มี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม มาตรา 97 ระบุชัดหากผู้ใดกระทำการให้สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติได้รับความเสียหาย รัฐสามารถให้ผู้กระทำจ่ายความเสียหายทั้งหมดได้ ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ได้เริ่มศึกษาเรื่องนี้ เมื่อ 7 วันที่แล้ว ซึ่งมองว่าล่าช้าไป เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะปลาหมอคางดำชอบอยู่บริเวณน้ำกร่อย

อย่างไรก็ตามในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมนัดสุดท้าย โดยจะเชิญนักวิชาการ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร มาประเมินความเสียหาย