ข่าว

"อธิบดีกรมราชทัณฑ์" เฉลยแล้ว "ทักษิณ" พ้นโทษ 31 ส.ค. นี้

"อธิบดีกรมราชทัณฑ์" เฉลยแล้ว "ทักษิณ" พ้นโทษ 31 ส.ค. นี้

02 ส.ค. 2567

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุ "ทักษิณ" กำหนดพ้นโทษ 31 ส.ค. หลังได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเพียง 1 ปี พร้อมคลี่สาระสำคัญ "ใบบริสุทธิ์" ต้องพกตลอดชีพหรือไม่ ?

จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 67 และจะพ้นโทษได้รับใบบริสุทธิ์ภายใน 365 วัน  โดยก่อนหน้านี้ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "ทักษิณ"อดีตนายกฯ จะได้รับการพ้นโทษในวันที่ 22 ส.ค. 67

2 ส.ค. 2567 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า การครบกำหนดพ้นโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเพียง 1 ปี เเละเมื่อนับไป 365 วัน จึงตรงกับวันเสาร์ ที่ 31 ส.ค. 67 ส่วนกระบวนการปล่อยตัวอดีตนายกฯ ขณะนี้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้มีการโอนเรื่องไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี เนื่องจากสถานที่พักโทษ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” อยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ดังนั้น เรื่องใบบริสุทธิ์จะถูกออกให้โดย ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรี และจะต้องได้รับการประสานงานจากกรมคุมประพฤติเรียบร้อยก่อน

เมื่อถามว่าวันที่ 31 ส.ค. นี้ ตรงกับวันเสาร์ ทางหน่วยงานราชการ หรือเรือนจำพิเศษธนบุรี จะสามารถเปิดให้บริการออกใบบริสุทธิ์แก่ผู้ต้องขังได้หรือไม่นั้น

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นวันใด ทางราชทัณฑ์ ก็จะต้องพร้อมในการดำเนินการออกใบบริสุทธิ์ให้แก่ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษ ส่วนลักษณะ หรือสาระสำคัญของใบบริสุทธิ์ คือ เป็นเอกสารที่ใช้ระบุได้ว่า บุคคลนั้นพ้นโทษแล้ว และสามารถใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะในขั้นตอนที่บุคคลนั้นต้องไปทำกิจกรรมต่างๆ มิเช่นนั้น อาจเกิดข้อแคลงใจได้ว่า บุคคลนี้ยังมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนประวัติอาชญากร

 

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

 

เช่น กรณีที่ผู้ต้องขังรายใดถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี แต่พอ 15 ปี ยังไม่ครบกำหนดกลับได้ออกมา เช่นนี้เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า เป็นหลักการบริหารโทษ หากผู้ต้องขังได้รับการเลื่อนชั้น ลด ปรับวันต้องโทษหรือพักโทษ ก็เป็นไปได้ที่เขาจะได้พ้นโทษก่อนกำหนด เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า สำหรับเอกสารใบบริสุทธิ์ ที่ผู้พ้นโทษได้รับนั้น ไม่มีความจำเป็นจะต้องพกติดตัวตลอดชีพ ซึ่งจะใช้เพียงแค่ในช่วงต้นเท่านั้น เพราะผู้พ้นโทษรายนั้นอาจจะต้องนำเอกสารไปใช้ประกอบกับการยืนยันตัวตนว่า ได้รับการพ้นโทษเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการยืนยันตัวตนอีกแล้ว

ส่วนในคดีอาญามาตรา 112 ซึ่งขณะนี้อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับการประกันตัวชั่วคราว หากจะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลจะต้องพกเอกสารใบบริสุทธิ์ไปด้วยหรือไม่นั้น ยืนยันว่า อดีตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องพกใบบริสุทธิ์ไปด้วย เพราะระบบการจัดเก็บข้อมูลของศาลจะขึ้นข้อมูลอยู่แล้วว่าบุคคลดังกล่าวได้รับการพ้นโทษจากคดีใดซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีปัจจุบัน

สำหรับการรับใบบริสุทธิ์ ผู้ต้องขัง ต้องเดินทางมารับเองที่เรือนจำ เพราะจะต้องมีการลงนามรับรองชื่อนามสกุลของตัวเอง แต่  มีเหตุในการละเว้นได้ หากผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางไปยังเรือนจำฯ เช่น ป่วยติดเตียง ป่วยวิกฤติ ก็สามารถยืดหยุ่นได้ โดยที่ผู้ต้องขังเซ็นมอบอำนาจให้บุคคลใกล้ชิดเดินทางไปรับเอกสารใบบริสุทธิ์กับเรือนจำแทน