ข่าว

ก้าวไกล แถลง 9 ข้อ ปิดคดีครั้งสุดท้าย ก่อน 7 ส.ค. ศาล รธน. ชี้ขาดยุบพรรคหรือไม่

"ก้าวไกล" แถลง 9 ข้อปิดคดีครั้งสุดท้าย ก่อน 7 ส.ค. ศาล รธน. ชี้ขาดยุบพรรคก้าวไกล ยัน ไม่ได้กระทำรุนแรงไม่ควรสั่งยุบพรรค

2 ส.ค. 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดีที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.นี้  โดยนายชัยธวัช อ่านข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล 9 ข้อ

1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องคดีนี้ไว้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่มีมาตราใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง และกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ไปเพิ่มขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมไม่สามารถที่จะนำคำวินิจฉัยในคดีที่ 3/2567 มาเป็นบรรทัดฐาน  หรือเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องในคดีนี้ได้

2. การยื่นคำร้องคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการไม่รับฟังคู่ความคดีทุกฝ่าย เพราะ กกต.ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคก้าวไกล ทั้งที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า กกต.มุ่งหมายที่จะยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล โดยไม่สนใจขั้นตอนตามกฎหมายกำหนด ไม่รอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นในคำร้อง ทั้งนี้การยื่นคำร้องในคดีดังกล่าว เป็นข้อหาที่แตกต่างจากคดีที่ 3/2567 แต่กลับไม่แสวงหาพยานหลักฐาน และไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลโต้แย้งข้อกล่าวหา

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

3.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้ ข้ออ้างที่ กกต. กล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาใหม่ที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน การนำผลคำวินิจฉัยในคดีก่อนมาปิดปากวินิจฉัยคดีนี้ จะต้องมีมาตรฐานที่เข้มข้นกว่า หรือระดับเดียวกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานพิสูจน์จนสิ้นสงสัย

"พรรคก้าวไกล ขอยืนยันว่า กกต.ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น และมีผลผูกพันให้ตนเองต้องเสนอต่อศาล โดยที่ไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับฟังผู้ถูกร้องอีกด้วย"

4. นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วการกระทำอื่น ๆ ตามคำร้อง มิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งกรณีที่ สส.เป็นนายประกันของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 หรือการแสดงออกส่วนตัว พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้สั่งการหรือบงการ ทั้งหมดไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองที่เป็นการเสนอโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ

5. การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อพิจารณาตามสภาวะวิสัยและความเชื่อของวิญญูชนทั่วไป การกระทำที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยมิได้เป็นการล้มล้างการปกครอง  หรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่อย่างใด 

 

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

ยกตัวอย่างกรณีที่ สส.เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ใช่การล้มล้างอการปกครองให้สิ้นสุดลง หรือไม่ได้ใช้อำนาจแก้ไขระบอบการปกครองให้เป็นระบอบการปกครองอื่น แต่เป็นการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

ทั้งนี้ การเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในการหาเสียง เป็นเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ประคับประคองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้คงอยู่ต่อไปเท่านั้น

6. ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล แม้ระบอบประชาธิปไตยบางประเทศจะสามารถยุบพรรคการเมืองได้ แต่ต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง และต้องเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะใช้ ภายใต้หลักความพอสมควรแห่งเหตุ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเครื่องมือการทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย สำหรับการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงถึงยุบพรรค และไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งยุบพรรคก้าวไกล

7. แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งหากจะมีการจำกัดสิทธิต้องเป็นกระทำตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น

8. ระยะเวลาเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคนผู้เป็นกรรมการบริหารพรรค เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางเอาไว้ ไม่สามารถจำกัดสิทธิหรือตัดสิทธิได้ เพราะต้องกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หากศาลเห็นว่ามีอำนาจกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง แต่การกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ต้องอยู่บนหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ควรเกิน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปีตามที่ กกต. ร้องขอ

9. การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเพิกถอนเฉพาะกรรมการบริหารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเท่านั้นทคือ ชุดที่ 1-2  ไม่ใช่ชุดปัจจุบันที่อยู่ระหว่างศาลวินิจฉัย

 

ก้าวไกล แถลง 9 ข้อ ปิดคดีครั้งสุดท้าย ก่อน 7 ส.ค. ศาล รธน. ชี้ขาดยุบพรรคหรือไม่