ข่าว

ย้อนเหตุร้อง “ยุบพรรคก้าวไกล” กับข้อต่อสู้ของ “พิธา”

ย้อนเหตุร้อง “ยุบพรรคก้าวไกล” กับข้อต่อสู้ของ “พิธา”

06 ส.ค. 2567

ย้อนปมเหตุแห่งการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ “ยุบพรรคก้าวไกล” กับข้อต่อสู้ ตามคำแถลงของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

การวินิจฉัยคดีร้องยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.2567 เป็นคดีใหญ่ที่ถูกจับตาอีกครั้ง เพราะแน่นอนว่าหากผลการตัดสินไม่เป็นคุณกับพรรคก้าวไกล จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

คมชัดลึกออนไลน์ ไล่ย้อนมูลเหตุแห่งการร้องขอให้ “ยุบพรรคก้าวไกล” ดังนี้

 

31 ม.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 (ในขณะเกิดเหตุ) และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74

 

1 ก.พ. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยุบพรรคก้าวไกล อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ม.ค.2567

 

12 มี.ค. 2567 กกต. มีมติเอกฉันท์ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

18 มี.ค.2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้รับมอบหมายจาก กกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)

 

โดยคำร้องดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นมติเอกฉันท์ ว่าการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นและพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

3 เม.ย.2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ถึงความคืบหน้าคดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณารับคำร้อง กกต. ยื่นยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

 

ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง โดยมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งให้ยื่นเอกสารชี้แจงภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

 

ขณะที่ พรรคก้าวไกล โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยเน้นย้ำในประเด็นกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย , คำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ไม่ผูกพันกับการพิจารณาคดีนี้ และโทษยุบพรรคเป็นมาตรการสุดท้ายที่ใช้เมื่อจำเป็นฉุกเฉินและไม่มีวิธีแก้ไขอื่น

 

โดยแยกย่อยได้ประมาณ 9 ข้อ อาทิ

  1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
  2. กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.2567 (ถูกร้องเสนอแก้ มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง) ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
  4. การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
  5. การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.2567 ไม่เป็นมติพรรค
  6. โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
  7. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
  8. จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องมีสัดส่วนสอดคล้องกับความผิด 
  9. การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา