ผ่านฉลุย วาระ 3 ดิจิทัลวอลเล็ต 1.22 แสนล้าน นายกฯ ย้ำ ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ
ฉลุย! สภาสูงไฟเขียว วาระ 3 ผ่านงบฯ "ดิจิทัลวอลเล็ต" 1.22 แสนล้านบาท นายกฯ ย้ำรัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมเปิดลงทะเบียนคนไร้สมาร์ทโฟน 16 ก.ย. 2567 - ร้านค้าเริ่มเข้าชื่อ 1 ต.ค. 2567
6 ส.ค. 2567 ที่ประชุมวุฒิสภาฯ มีมติเสียงข้างมาก 139 เสียง ต่อ 38 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาทซึ่งมีผู้งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค และการลงทุนในประเทศโดยเร่งด่วน ไม่สามารถ รองบประมาณปี 2568 ได้
โดยยืนยันว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาล จะใช้จ่ายเงินภาษีของประชนชนให้มีประสิทธิภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลสู่ประชาชน และภาคธุรกิจ สร้างความเจริญเติบโตให้ดับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย
ขณะที่ การอภิปรายของ สว.นั้น มีสมาชิกวุฒิสภาหญิง 2 คน ที่เป็นเคยเป็นแม่ค้ามาก่อน ได้อภิปรายเกือบทั้งน้ำตา ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐบาล จึงไม่แจกเป็นเงินสด เพื่อให้ประชาชน นำไปใช้จ่ายได้สะดวก และยังตัดพ้อที่อาชีพพ่อค้า แม่ค้า แทบจะไม่เคยได้รับการดูแลจากรัฐบาล เหมือนเกษตรกร หรือชาวนา ต้องอดทนอดกลั้นทำอาชีพดูแลครอบครัว รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตเหตุใด จึงไม่แจกเงินอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า
สว.แดง กองมา กล่าวในที่ประชุมสภาฯ ว่า การที่รัฐบาลจะแจกเงินประชาชนคนไทย 10,000 บาท ตน มีความยินดีและดีใจมาก แต่มีความกังวลว่า จะนำไปใช้จ่ายอย่างไรหลังได้รับเงินส่วนนี้ เนื่องจาก เป็นเงินดิจิทัล จึงรู้สึกคิดหนักที่บางครอบครัวมีสมาชิก 4-5 คน หากรวมเป็นเงิน 40,000-50,000 บาท อยากเอาไป ซ่อมแซมบ้าน ซื้อควายซื้อวัวเลี้ยง ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ทำไมรัฐบาลไม่แจกเป็นเงินสด จะได้ใช้ง่าย
นอกจากนั้น สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ยังกังวลว่า โครงการดังกล่าวของรัฐบาล จะเป็นการเอื้อนายทุน ทำประชาชนเสียนิสัยจากการแจกเงิน และยังเป็นการหาเสียงล่วงหน้าของรัฐบาล สร้างภาระจนจะทำประเทศเสียหาย พร้อมยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ ที่การเลื่อนลงทะเบียนของร้านค้าน เป็นเพราะไม่มีร้านค้าใดเข้าร่วมใช่หรือไม่
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงข้อสังเกต และข้อสงสัยของสมาชิกวุฒิสภา เหตุใดรัฐบาลไม่จ่ายเป็นเงินสด ว่า กลไกที่รัฐบาลกำหนด เป็นกลไกลใหม่ ต่างจากอดีต ที่แจกเป็นเงินสด เพราะอาจทำให้ประชาชน ออมไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ยอมใช้จ่าย ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ และรัฐบาล ต้องการให้เม็ดเงินกระจายตัวอยู่ในความเหมาะสม ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในตัวเมือง และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนอยู่ในระบบได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามที่รัฐบาลต้องการ
โดยได้ยกตัวอย่าง เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ หากรัฐบาลกำหนดให้ใช้เป็น ดิจิทัลวอลเล็ต ในอำเภอแม่ริม ซึ่งมีประชากรจำนวนประมาณ 80,000 คน ก็จะมีเงินหมุนอยู่ในอำเภอ 800 ล้านบาท แต่หากแจกเป็นเงินสด ประชาชนก็จะไปใช้เงินในอำเภอเมืองเชียงใหม่มากกว่า และหากร้านค้า ต้องการจะขึ้นเป็นเงินสด ก็สามารถทำได้ในการหมุนรอบที่ 2 และเงินสดก็จะยังคงหมุนเวียนในระบบ มีผลระยะยาว และกลไกนี้ ไม่ใช่เพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการวางรากฐาน ดิจิทัล ระยะยาว ให้คนไทยพร้อมรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงข้อมูลประชาชนต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกำหนดนโยบายได้อย่างตรงจุด พร้อมย้ำว่า แอพลิเคชันทางรัฐ มีความปลอดภัยแน่นอน
นายจุลพันธ์ ยังย้ำว่า ในการใช้จ่ายนั้น รัฐบาลได้วางกลไกไม่ให้เกิดการกระจุกตัวกับรายใหญ่ และกระจายตัว ง่ายต่อการใช้งาน ดังนั้น จึงสามารถซื้อของจากร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชนของประชาชนในท้องถิ่น ได้ รวมไปถึงร้านหาบเร่แผงลอย ที่แม้ไม่เสียภาษี ก็สามารถลงทะเบียนได้ แต่ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาล จะเปิดลงทะเบียนร้านค้า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
ส่วนประชาชนที่ไม่มี สมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือในการลงทะเบียนรับสิทธิ์นั้น นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือในการลงทะเบียน รัฐบาลจะเปิดลงทะเบียนในวันที่ 16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567 โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรัฐ และใช้บัตรประชาชนในการซื้อสินค้า ซึ่งอาจจะไม่สะดวก และมีความซับซ้อนกว่า
โดยภายหลังที่ วุฒิสภา ให้ความเห็นชอบเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาทแล้ว ประธานวุฒิสภา จะส่งร่างงบประมาณ กลับคืนไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอน และประกาศใช้ใน ราชกิจจานุเบกษา ต่อไป