ทาง 2 แพร่ง "ก้าวไกล" ศาลรัฐธรรมนูญวินิจยุบพรรค เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ
7 สิงหาคม เปิดแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทาง 2 แพร่ง "ยุบพรรคก้าวไกล" ปมเสนอแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ
7 ส.ค. 2567 เวลา 09.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เริ่มประชุมปรึกษาหารือ เพื่อลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากคำร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ก่อนหน้านี้ 2 ส.ค. 2567 พรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวถึงข้อต่อสู้ 9 แนวทาง ซึ่ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม มั่นใจในข้อเท็จจริง และมั่นใจในเรื่องของข้อกฎหมายที่อธิบายไปแล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการยืนยันข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายทางของเรา และเชื่อว่าพรรคก้าวไกล จะได้รับความยุติธรรม
พร้อมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2549 มีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งหมด 33 พรรค มีนักการเมืองถูกตัดสิทธิไปอย่างน้อย 249 คน และมีการยกคำร้องประมาณ14ปีที่แล้ว เป็น 1ใน 34พรรคที่รอด พรรคนั้นรอดไม่ถูกยุบ และยกคำร้อง เพราะกระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกได้ 2 ทาง คือ
1.ยกคำร้อง ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่กล่าวหาจริง
2.ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ หรือเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา
หากศาล รรธน.มีคำสั่งยุบพรรค สิ่งที่ตามคือ จะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดที่มีการกระทำผิด ไม่สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรค มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดเป็นเวลา 10 ปี
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ช่วงปี 2563-2566 พบว่า ที่เป็น ส.ส.อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน และ ที่ไม่ได้ เป็น ส.ส.ในปัจจุบัน 3 คน
- สำหรับ 5 คน ที่เป็น ส.ส.อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
- นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค (ขณะนั้น)
- นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค (ขณะนั้น)
- น.ส.เบญจา แสงจันทร์
- นายสุเทพ อู่อ้น
- นายอภิชาต ศิริสุนทร และ ส.ส.เขต 1 คน
- นายปดิพัทธ์ สันติ ภาดา ส.ส.พิษณุโลก (ถูกขับพ้นพรรค) และปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม
- ส่วนกรรมการบริหารพรรค 3 คน ที่ไม่ได้ เป็น ส.ส.ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
- นายณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
- นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
- นายสมชาย ฝั่งชลจิตร และ 10. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
ส่วนของส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่มีการเลื่อนบัญชีขึ้นมาทดแทน เนื่องจากบัญชีหายไปจากการถูกยุบพรรค ทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคก้าวไกล จากที่มีเสียงในสภาปัจจุบันรวม 148 คน จะเหลือ 143 คนซึ่งต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน รวมถึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก แทนนายปดิพัทธ์
ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยยุบพรรค ยังจะมีผลเป็นการเพิ่มน้ำหนักต่อการดำเนินคดีจริยธรรมร้ายแรง กับ 44 สส. ที่เข้าชื่อยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. แต่ในจำนวน ส.ส. 44 คน ที่ยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวปัจจุบันเหลือที่เป็น ส.ส.อยู่ในสภา 30 คน