กางไทม์ไลน์ 84 วัน ชี้ชะตา “นายกฯเศรษฐา”
เปิดไทม์ไลน์ 84 วัน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา คดี 40 สว. ร้องถอดถอน “เศรษฐา” กรณีขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี ลุ้นรอด-ไม่รอด
ในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้ เป็นอีกวันที่จะมีคดีสำคัญในศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลชี้ชะตาคุณสมบัติของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณี 40 สว. ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่
กรณี เศรษฐา นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า พิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
คำร้องระบุว่า กรณีเป็นการกระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา สิ้นสุดลงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา มาตรา 160 (4) และ (5)
ย้อนไทม์ไลน์ คดี ดังนี้
- 15 พ.ค.2567 สมาชิกวุฒิสภา 40 คน ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ยื่นผ่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังพบว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯเสนอชื่อ พิชิต ชื่นบาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่เคยต้องคดีจำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีถุงขนม 2 ล้านบาท
- 17 พ.ค.2567 คำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ
- 21 พ.ค.2567 พิชิต ชื่นบาน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- 23 พ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มี มติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้อง (เศรษฐา) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง ขณะเดียวกัน ก็มี มติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ เศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
- จากนั้นระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ ฝ่าย สว. ในฐานะผู้ร้อง ยื่นพยานบุคคล 3 ปาก ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม , สมชาย แสวงการ , ประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา ในขณะนั้นก่อนจะมีการเลือกสว. 67
- 4 ก.ค.2567 เศรษฐา ผู้ถูกร้อง จัดส่งเอกสารหลักฐานชี้แจง และส่งรายชื่อพยานเพิ่ม 1 ปาก คือ นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เนื่องจากรู้เห็นกระบวนการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
หากนับรวมระยะเวลาจากวันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องไว้พิจารณาในวันที่ 23 พ.ค.2567 จนถึงวันลงมติและนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 14 ส.ค.67 เท่ากับ 84 วันพอดิบพอดี
ส่วนจะเป็น 84 วันที่ เศรษฐา ทวีสิน ได้ไปต่อ หรือ ปิดฉากลง ต้องจับตา!