ข่าว

เปิด 2 แนวทาง ศาลรธน.ตัดสินคดี “เศรษฐา”

เปิด 2 แนวทาง ศาลรธน.ตัดสินคดี “เศรษฐา”

13 ส.ค. 2567

เปิด 2 แนวทาง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดี “นายกเศรษฐา” รอด หรือ ร่วง กับทิศทางอนาคตการเมืองไทย และพรรคเพื่อไทย

 14 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่ 40 สว. ยื่นคำร้องผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่

 

กรณี เศรษฐา นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า พิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาขของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีถุงขนม 2 ล้านบาท

จึงเป็นการกระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา สิ้นสุดลงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)

 

โดยทิศทางของคำวินิจฉัย เป็นไปได้ว่าจะออกมา 2 แบบ คือ นายกฯเศรษฐา รอด หรือ ไม่รอด เนื่องจากขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี

 

1. นายกฯเศรษฐา รอด ได้ไปต่อ หมายความว่า ภาวะทางการเมืองหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้แล้ว จะไม่เกิดแรงสั่นสะเทือน นโยบายรัฐบาลจะถูกขับเคลื่อนในข้างหน้า โดยเฉพาะ ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000  บาท ซึ่งเป็นเรือธงของรัฐบาล

 

เป็นมิติด้านเศรษฐกิจ บทพิสูจน์ของ เศรษฐา เมื่อผ่านด่านนี้ไปแล้ว จะถูกโฟกัสที่ผลงาน โดยเฉพาะนโยบายเรือธงของ รัฐบาล-เพื่อไทย ที่พยายามเข็นให้ถึงฝั่ง เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้ฟื้นกลับมา

 

นโยบายแจกหมื่นดิจิทัล วอลเล็ต แม้จะยื้อมานาน ล่าสุดเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนยืนยันสิทธิ เมื่อวันที่ 1-15 ส.ค.67 คาดว่าจะสามารถเปิดใช้เต็มระบบต้นเดือนพ.ย. โดยมีระยะเวลาใช้เงินดิจิทัล 6 เดือน ระหว่างนี้ก็ต้องลุ้นว่า กระแสที่วูบไปพร้อมกับความล่าช้าของโครงการนี้จะกระเตื้องขึ้นมาได้หรือไม่

 

ทว่า เป็นไฟต์บังคับให้ เศรษฐา  ต้องปรับ ครม.- เปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจาก “นายใหญ่บ้านจันทร์” ไม่ปลื้ม “ลุงบ้านป่า” ที่คอยเดินเกมล้มรัฐบาล เพื่อสานฝันของตัวเอง

 

ว่ากันว่า 40 สส.พลังประชารัฐ ถูกแบ่งออกเป็น 2 สาย สายตรง บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และสายตรง ผู้กองมนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค 

 

โจทย์ นายใหญ่ ต้องการเขี่ยสายตรง ประวิตร ออกจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 คน ทำให้ ธรรมนัส ต้องเดินเกมแยกปลาออกจากน้ำ ดึง สส. สายตรงบิ๊กป้อม มาเป็นพวกให้ได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเปิดช่องให้ นายใหญ่ ดึง 21 สส. ประชาธิปัตย์ เข้ามาเสียบแทน ซึ่งจะทำให้ พลังประชารัฐ ต้องเสียโควต้ารัฐมนตรีไปโดยปริยาย

 

แน่นอนว่าหาก เศรษฐา พ้นผิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การปรับ ครม.ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะปรับช้า หรือเร็ว 

 

หากปรับเร็วจะเกิดขึ้นภายในเดือนส.ค.นี้ แต่หากปรับช้าจะรอจังหวะให้เสร็จสิ้นการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ในช่วงกลางเดือนก.ย.ไปก่อน

 

ในระหว่างนี้ รัฐบาลเศรษฐา สุ่มเสี่ยงที่จะโดน ขั้วฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ตามมาตรา 151 ซึ่งสามารถยื่นได้ในสมัยประชุมนี้ โดยสภาฯจะปิดสมัยประชุมในช่วงต้นเดือนต.ค.

 

มีกระแสข่าวว่า ขั้วฝ่ายค้าน นำโดย พรรคประชาชน มีข้อมูลอยู่ในมือหลายประเด็น พร้อมที่จะชำแหละโดยไม่ต้องรอ หรือเกรงใจ 

 

ที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ ประชาธิปัตย์ หากตกขบวนเข้าร่วมรัฐบาลอีกรอบ ก็พร้อมที่จะผันตัวเองเป็นฝ่ายค้านอย่างเต็มตัว ทิ้งความหวังร่วมรัฐบาล เพื่อเก็บแต้มทางการเมืองเช่นกัน

 

2. เศรษฐา ไม่รอด ต้องพ้นเก้าอี้ นายกฯ  จะทำให้สถานะของ เพื่อไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสั่นคลอน เพราะ ครม.เศรษฐา จะพ้นเก้าอี้ทั้งคณะ เนื่องจากนายกฯ พ้นจากตำแหน่ง

 

เกมหลังจากนี้ จะออกได้ 2 หน้า คือ 1.ครม.เศรษฐา จะกลายเป็น ครม.รักษาการ โดยจะต้องเลือกรองนายกฯ คนหนึ่งขึ้นมารักษาการนายกฯ พร้อมกับมีอำนาจในการ ยุบสภา

 

หากเดินเกมนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 5 วัน หลังยุบสภา และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน โดยผู้สมัคร สส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง นั่นคือ มีโอกาสให้ย้ายพรรคในช่วง 15-30 วันหลังยุบสภา

 

2.ครม.รักษาการ ไม่ได้ยุบสภา แต่เดินเกมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ คนใหม่ โดยต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต.เท่านั้น

 

โดยใช้เสียง สส.ในสภาฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพื่อเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรโหวต ไม่ต้องใช้เสียง สว.อีกต่อไป เนื่องจากบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงไปแล้ว ทั้งนี้การโหวตเลือกนายกฯใหม่ มิได้ระบุเงื่อนไขเวลาไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ปัจจุบันมี 6 แคนดิเดต ในบัญชีที่พรรคการเมืองยื่นต่อ กกต. เอาไว้ ซึ่งต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน เท่านั้น ที่จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

 

ทำให้มีเพียง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

ทำให้วันที่ 14 ส.ค. 2567 เป็นอีกวันสำคัญของการเมืองไทย ที่จะกำหนดชะตาของ นายกฯ คนที่ 30 รวมถึงชะตาของรัฐบาลเพื่อไทย ว่าจะได้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่