ข่าว

ด่วน! ศาลรธน. มีมติ 5 ต่อ 4 สั่ง “เศรษฐา” พ้น นายกฯ พร้อม ครม. ทั้งคณะ

ด่วน! ศาลรธน. มีมติ 5 ต่อ 4 สั่ง “เศรษฐา” พ้น นายกฯ พร้อม ครม. ทั้งคณะ

14 ส.ค. 2567

ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 สั่ง “เศรษฐา” พ้นสภาพ “นายกรัฐมนตรี” พร้อม ครม.ทั้งคณะ ชี้ตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ซื่อสัตย์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง

14 ส.ค.2567 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่ 40 สว. ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่

 

กรณี เศรษฐา นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า พิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นการกระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา สิ้นสุดลงได้ 

สำหรับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาคดี 9 คน ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ , นายปัญญา อุดชาชน , นายอุดม  สิทธิวิรัชธรรม , นายวิรุฬห์ แสงเทียน , นายจิรนิติ หะวานนท์ , นายนพดล เทพพิทักษ์ , นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ , นายอุดม รัฐอมฤต และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ

 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติ เวลา 09.00 น. วันนี้ ก่อนอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น.

 

โดย ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้อง

 

ในส่วนผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2567 ไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยคดีต่อไป ไม่รับคำร้อง

 

ส่วน ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) รับคำร้อง แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

 

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้อง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า รัฐมนตรีต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ในการนำความกราบบังคมทูลฯและสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว โดยต้องรับผิดชอบในกิจการที่ลงนามสนองนั้นเสมอ 

 

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 เคยต้องโทษ กรณีนำถุงกระดาษใส่เงินสดให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกา เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นการกระทำในลักษณะตัวการร่วม อาจเชื่อมโยงเป็นประโยชน์แห่งคดี เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาล ผู้ถูกร้องที่ 2 อาชีพทนายความ ย่อมตระหนักดีว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผลกระทบต่อศาล จึงจำคุกคนละ 6 เดือน 

 

เดือน ก.ย.2552 คณะกรรมการมารยาททนายความ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ยำเกรงอำนาจศาล ผิดมรรยาททนายความ โดยลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ออกจากทะเบียนทนายความ

 

ต่อมามีการตั้งผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการปรับ รมต.บางส่วน ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

 

ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือสมควรรู้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าความผิดจำคุกดังกล่าวเกิน 10 ปี แต่ไม่รวมลักษณะต้องห้าม

 

ในการไต่สวน ผู้ถูกร้องที่ 1 ระบุว่า ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้าม ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรมต. และทำเอกสารสรุปรายงานนายกฯเพื่อทูลเกล้าฯต่อไป

 

ผู้ถูกร้องที่ 1 ย่อมต้องทราบคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ถูกร้องที่ 2 การพิจารณาแล้วเห็นว่าขาดคุณสมบัติ

 

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้คุณสมบัติผู้ถูกร้องที่ 2 ก่อนการแต่งตั้ง

 

เมื่อถูกร้องที่ 1 รู้แล้วแต่ยังคงเสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 ย่อมปฏิบัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะนายกฯเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งที่ข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดว่าเป็นกรณีต้องห้าม 

 

ดังนั้นผู้ถูกร้องที่ 1 จึงขาดคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์

 

แต่ในการเสนอ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็น รมต. มีขบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในเรื่องของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว

 

เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะนายกฯต้องใช้วิจารณญาณด้วย การที่อ้างว่าไม่มีความรู้ทางรัฐศาสตร์เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้

 

เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ข้อเท็จจริงมาตลอด แต่ยังคงเสนอตั้งเป็น รมต. ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ 

 

ผู้ถูกร้องที่ 1 นำความกราบบังคมทูล แสดงให้เห็นว่า ไม่ซื่อสัตย์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง การกระทำเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของนายกฯ ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงมีลักษณะต้องห้าม

 

ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีลักษณะต้องห้าม

 

อาศัยเหตุผลดังกล่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ