ข่าว

“พรรคประชาชน” ไม่เห็นด้วย “เศรษฐา” พ้นนายกฯ จี้ทบทวนอำนาจศาลรธน.

“พรรคประชาชน” ไม่เห็นด้วย “เศรษฐา” พ้นนายกฯ จี้ทบทวนอำนาจศาลรธน.

14 ส.ค. 2567

“พรรคประชาชน” ไม่เห็นด้วยคำตัดสินสั่ง “เศรษฐา” พ้นเก้าอี้นายกฯ จี้ทบทวนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระใหม่

14 ส.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา พรรคประชาชน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อม ครม.ทั้งคณะ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน กรณีถุงขนม 2 ล้านบาท เนื่องจากขาดคุณสมบัติ   

 

โดย นายพริษฐ์ ระบุว่า พรรคประชาชนขอแสดงความกังวลและความไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ในวันนี้ ที่นายเศรษฐา ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญ แม้พรรคประชาชนยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต แต่จริยธรรมเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ตราบใดที่การกระทำนั้นไม่ได้เป็นการทุจริตอย่างโจ่งแจ้งตามที่มีบทลงโทษตามกฎหมายครอบคลุมไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องของจริยธรรมจึงควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระผูกขาดการตีความมาตรฐานจริยธรรมตามดุลพินิจของตนเอง จนเสี่ยงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังเช่น กรณีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในวันนี้

 

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า พรรคประชาชนมีความเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันนี้ จะทำให้สังคมทุกฝ่ายเห็นชัดขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงการกำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางการเมือง โดย สส.พรรคประชาชน จะเดินหน้าทำงานต่อในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป

 

จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีคำวินิจฉัยในวันนี้ เทียบกับคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 ซึ่งนายพริษฐ์ ระบุว่า ทั้งสองเหตุการณ์แม้จะเป็นคนละกรณี แต่ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้นถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีการทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า จะทำอย่างไรให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม ให้มีกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระที่มีความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงการมีกติกาในการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป โดยหวังว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมาจากการร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน