เปิดเส้นทางการเมือง “ชัยเกษม นิติสิริ”
ย้อนเส้นทางการเมืองของ “ชัยเกษม นิติสิริ” มือกฎหมายตัวฉกาจ สู่ประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคเพื่อไทย จับตาเก้าอี้ นายกฯ คนที่ 31
ชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอชื่อ ชัยเกษม นิติสิริ ต่อที่ประชุมสภานัดพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 นี้ เพื่อให้ได้รับเลือกเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากเก้าอี้นายกฯ รวมถึง ครม.ทั้งคณะ
โดย ชัยเกษม มีชื่อเป็นหนึ่งใน แคนดิเดต นายกฯ ลำดับ 3 ของพรรค ที่ถูกจัดวางไว้ตั้งแต่เสนอชื่อในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา
เส้นทางการเมือง ของ ชัยเกษม นิติสิริ
- เติบโตมาจากสายงานที่ปรึกษากฎหมาย เชี่ยวชาญด้านการตรวจร่างสัญญา
- ตลอดระยะเวลา 2 ปี ในตำแหน่ง อัยการสูงสุด มีคดีที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส. - คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2549) สรุปสำนวนชี้มูลความผิด นายทักษิณ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยหลายคดี
- แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสำนวนถึงขั้นตอนการสั่งคดีของอัยการ ส่วนใหญ่จะมีความเห็นว่า “สำนวนไม่สมบูรณ์ ครบถ้วน” จนต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง คตส. และอัยการ หลายคดี อาทิ
- คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน อัยการอ้างเหตุผลสำนวนไม่สมบูรณ์ จนต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการ กับ ป.ป.ช. สุดท้ายจึงสั่งฟ้อง
- คดีแปลงสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต สภาพการณ์คล้ายคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน
- คดีโครงการออกสลากพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว (หวยบนดิน) อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ต่อมา คตส.-ป.ป.ช. แต่งทนายยื่นฟ้องเอง
ท้ายที่สุด คดีเหล่านี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่านายทักษิณ หรืออดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มีความผิดทั้งสิ้น
จากท่าทีและผลการชี้ขาดสำนวนคดี ทำให้ ชัยเกษม เคยถูกครหาว่า "เป็นคนในระบอบทักษิณ" แต่เจ้าตัวปฏิเสธว่า "ไม่เคยรับงานใคร"
หากจะกล่าวอย่างเป็นธรรม ไม่เกี่ยวกับเนื้อคดี ก็อาจกล่าวได้ว่า ชัยเกษม อาจจะไม่เห็นด้วยกับการใช้กลไกพิเศษ ดำเนินคดีกับนายทักษิณและพวก
ฝั่ง คสช. และ ฝ่ายที่เรียกร้องให้ตรวจสอบระบอบทักษิณ ก็อ้างเช่นกันว่า หากใช้กลไกปกติ ไม่มีทางเอาผิดได้ และยังยืนยันว่า กระบวนการทำงานของ คตส. ให้ความเป็นธรรมกับนายทักษิณและพวกอย่างเต็มที่ทุกขั้นตอน
อาจจะด้วยเหตุนี้ที่กลายเป็นแรงดึงดูด ให้ ชัยเกษม เข้าไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย (พรรคใหม่ของไทยรักไทย และพลังประชาชน) หลังจากเกษียณอายุราชการ
เรียกว่า ชัยเกษม นิติสิริ จัดเป็นมือกฎหมายขนานแท้ เป็นมือกฎหมายแถวหน้าของแผ่นดิน
ภายหลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พ้นตำแหน่ง ได้มีการประกาศกฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยผู้บัญชาการทหารบก ก่อนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ในการร่วมเจรจาหาทางออกวิกฤติการณ์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 แต่การเจรจาในครั้งนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ เขายืนยันว่า คณะรัฐมนตรีรักษาการจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจยึด อำนาจการปกครองประเทศ เมื่อเวลา 16.30น.
ใน พรรคเพื่อไทย ชัยเกษม นิติสิริ ได้รับแต่งตั้งจากพรรคให้เป็นประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง หนึ่งใน 100 รายชื่อ ที่อยู่ในบัญชี สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 10 ได้รับยกย่องเป็นผู้ที่รอบรู้ด้านกฎหมาย และด้วยความรู้ความสามารถจึงได้ขึ้นเป็น แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย
โดย ชัยเกษม เคยกล่าวบนเวที ในการเปิดตัวแคนดิเดต นายกฯ ของ พรรคเพื่อไทย ที่ เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566
"ผมเคยเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง ที่ทำให้คนในระบอบรัฐประหาร หมายหัวผมว่าอย่าให้คนนี้โตขึ้นมาได้ จะเป็นภัยต่อพวกเขา เพราะผมเสนอแก้รธน.ป้องกันการรัฐประหาร โดยระบุไว้ ว่าการรัฐประหาร มีความผิดฐานเป็นกบฏ ... คดีไม่มีอายุความ ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกฉีกไป แต่ให้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติ ยังสามารถนำตัวมาลงโทษได้"
วันที่ 16 ต.ค. 2567 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัย เศรษฐา ทวีสิน
วันนี้ ชื่อของ ชัยเกษม นิติสิริ มือวางอันดับ 3 ของพรรคเพื่อไทย กำลังจะก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ถือเป็นความท้าทายอย่างสูง ของนักการเมืองในวัย 76 ปีคนนี้ ซึ่งต้องติดตามต่อไป