เส้นทางการเมือง 2 ผู้นำ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์
เปิดเส้นทางการเมือง “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร – เท้ง ณัฐพงษ์” สองผู้นำการเมือง พุ่งสู่ยอดปิรามิด อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
กลายเป็นบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อมีผู้นำการเมืองรุ่นใหม่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ 2 ขั้ว 2 คน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
1.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กำลังจะครบ ปัจจุบัน อายุ 37 ปี และกำลังจะครบ 38 ปี ในอีก 5 วัน ในวันคล้ายวันเกิด 21 ส.ค. 2529
2.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ เท้ง ณัฐพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาชน เจ้าของฉายา "ไอ้เท้งเอาตายแน่" ปัจจุบัน อายุ 37 ปี
เส้นทางการเมืองของ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯคนที่ 31
อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เป็น นายกฯหญิงคนที่ 2 ต่อจาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และทายาททางการเมืองตระกูล “ชินวัตร” รุ่นที่ 3 ต่อจาก “ทักษิณ ชินวัตร - ยิ่งลักษณ์” นอกจากจะเป็นทายาทนักการเมืองชื่อดังแล้ว ยังเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจให้กุมบังเหียนธุรกิจ “อาณาจักรอสังหาริมทรัพย์” อย่าง “เอสซี แอสเสท” ร่วมกับ “เอม” พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ “พี่สาว”
บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอสังหาฯคู่บุญตระกูลชินวัตร มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดกว่า 10,521.94 ล้านบาท
โดย ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 2567 แพทองธาร ชินวัตร ถือหุ้นใหญ่สุด 28.43% , พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ ถือรองลงมา 27.52% และคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นลำดับที่ 4 คิดเป็น 2.74% เป็นต้น
นอกจากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 พบว่า อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 23 แห่ง ซึ่งยังดำเนินการอยู่ 21 แห่ง (เลิกกิจการ 2 แห่ง) ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
และด้วยประวัติพื้นฐานทางด้านธุรกิจ ประกอบกับ พื้นฐานครอบครัวการเมือง ทำให้ อุ๊งอิ๊ง ได้รับการสนับสนุนให้ลงสนามการเมือง
- ปี 2564 เป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย
- 20 มี.ค. 2566 เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำทัพหาเสียงเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2566 จนสามารถคว้าเก้าอี้ สส. มาเป็นอันดับ 2 รวม 141 ที่นั่ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วม ตั้งแต่ 22 ส.ค. 2566 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
- ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ควบรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ
- 16 ส.ค. 2567 ได้รับการโหวตจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นนายกฯคนที่ 31 และเป็น นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของไทย หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็น อา ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง คนที่ 28 ของไทย ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวัย 44 ปี ช่วงวันที่ 5 ส.ค.2554 – 7 พ.ค. 2557
- อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ได้รับการเสนอชื่อ เป็น นายกฯคนที่ 31 หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกฯคนที่ 30 ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 สปอร์ตไลท์ทุกดวงส่องไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อส่องหาว่าที่ นายกฯคนที่ 31 ทันที จากนั้น เย็นวันที่ 15 ส.ค. 2567 แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค แถลงสนับสนุนให้ แพทองธาร ชินวัตร เป็น นายกฯคนที่ 31 โดย แพทองธาร ยอมรับว่า ได้เสนอตัวเป็น นายกฯ ต่อจาก นายกฯเศรษฐา กระทั่งได้รับการโหวตเห็นชอบด้วยคะแนน 319 เสียง จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็น นายกฯคนที่ 31 ในวันที่ 16 ส.ค. 2567
เส้นทางการเมืองของ เท้ง ณัฐพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้าน จากพรรคประชาชน
เท้ง ณัฐพงษ์ เป็นอีกคนที่มีประวัติการบริหารงานธุรกิจ เคยเป็นผู้บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท เมเนจเม้นท์ โซลูชั่นส์ จำกัด และเป็นแกนนำในการเปิดพื้นที่โลกดิจิทัลในเซิร์ฟเวอร์ "ก้าว Geek" ผู้สร้างคอมมูนิตี้บนแพลตฟอร์ม Discord สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดจากพรรคการเมือง และไอเดียพัฒนาวงการเทคโนโลยีไทย ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง
- ปี 2562 เท้ง ณัฐพงษ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 28 บางแค จากพรรคอนาคตใหม่ ต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เท้ง ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล
- ปี 2562-2566 ดำรงตำแหน่ง กรรมาธิการงบประมาณ
- ปี 2566 ได้รับการเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา จัดทำและติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
- 9 ส.ค. 2567 เท้ง ณัฐพงษ์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน ในวัยเพียง 37 ปี รวมทั้งเป็น ผู้นำฝ่ายค้าน รุ่นผลัดใบ รุ่นที่ 3 หลังพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล ถูกยุบตามลำดับ
- เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ได้รับฉายา “ไอ้เท้ง เอาตายแน่” เพราะเขาเคยประกาศไว้ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งอย่างดุเดือด ว่า ถ้ามีใครจะมาทำลายอุดมการณ์ของประชาชน ถ้ามีคนอยากมาทุบทำลายสิ่งเหล่านี้ พรรคก้าวไกล พรรคอนาคตใหม่ และ สส.พรรคเอามันตายแน่
- โดยไอดอลในดวงใจของ เท้ง คือ รุ่นพี่ทางการเมือง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ