ข่าว

“เท้ง” รอหารือพรรคเคาะปมร้องสอบ ตุลาการศาลรธน. พูดติดตลกปมยุบก้าวไกล

“เท้ง ณัฐพงษ์” รอหารือพรรค เคาะปมร้องสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพูดติดตลก คดียุบก้าวไกล มองข้ามช็อตแก้ รธน.รื้ออำนาจองค์กรอิสระ

22 ส.ค. 2567 เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ “โมเดิร์นไนน์” ถึงกรณี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง พูดติดตลกเกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกล ในงานเสวนาที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ 15 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา พรรคประชาชนจะดำเนินการยื่นร้องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนเอาผิดด้านจริยธรรมหรือไม่ ว่า

 

จริง ๆ เป็นสิทธิหรือเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถยื่นร้องได้ คิดว่าอาจแสดงความเห็น 2 อย่าง อย่างแรก ในแง่ตัวบุคคล เข้าใจว่านายอุดม เองสวมหมวก 2 ใบ แสดงทัศนคติส่วนตัว และทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าสังคมตัดสินได้ว่าการแสดงความเห็นแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือสร้างความเสื่อมเสียต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

อย่างที่สองเป็นประเด็นสำคัญ ต้องถกเถียงในรัฐสภา คือ การยื่นเสนอแก้ไขกฎหมายต่างๆ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิ์เต็มที่ในการแก้ไขกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ คิดว่าเรื่องนี้ในกรอบจริยธรรมนักการเมือง ที่เราโดนอำนาจฝั่งตุลาการ อย่างล่าสุดกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ คิดว่าเราแก้ไขได้

 

สำหรับกระบวนการยื่นร้องถ้ายื่นจริยธรรมปกติ จะมีกระบวนการในศาลที่ไปตรวจสอบกันเอง ส่วน ป.ป.ช.จะตรวจสอบเรื่องจริยธรรมร้ายแรง พอกระบวนการเป็นแบบนี้ ต้องกลับมาพูดคุยว่าจะขับเคลื่อนภายในพรรคดำเนินการอย่างไร คิดว่าเป็นประเด็นเล็ก แต่ประเด็นใหญ่ภาพรวม เรื่องจริยธรรมต่างๆ องค์กรอิสระ จริยธรรมนักการเมือง หลายๆ ส่วนยังมีปัญหา คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองระยะใกล้ตอนนี้ เป็นไปได้ในการแก้รายมาตรา การแก้นี้คิดว่าพูดคุยกันได้ ในการพูดคุยเรื่องจริยธรรมต่างๆ ทำอย่างไรให้นักการเมืองจากประชาชน ควรถูกตรวจสอบโดยประชาชนเป็นหลัก สิ่งต่างๆ เหล่านี้คิดว่าพูดคุยกันได้

 

เมื่อถามย้ำว่า พรรคประชาชน ในฐานะอดีตพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสียหายโดยตรง จะยื่นสอบจริยธรรมตุลาการท่านนี้หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้หารือภายในพรรคอย่างเป็นทางการ แต่คิดว่าเป็นไปได้ รอหารือในพรรคก่อนว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร หรือว่ามองข้ามช็อตไปเลย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องตัวบุคคล เราอยากแก้ไขที่ระบบมากกว่า อาจโฟกัสเรื่องแก้ไขกฎหมาย

 

เมื่อถามว่า การใช้จังหวะนี้ตีกระแสนำไปสู่การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ประเด็นจริยธรรม หรือองค์กรอิสระ จะดำเนินการอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าดูทั้งระบบ สิ่งที่เราประสบเหตุช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 2 สัปดาห์มานี้ จะเผชิญกับเรื่องยุบพรรค และเรื่องจริยธรรมนักการเมือง จริงๆ เป็น 2 ประเด็นย่อยที่อยู่ภายใต้งานทั้งหมดที่เราต้องแก้ไขทั้งหมด คือ ภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง

 

โดยกรณีจริยธรรม ต้องแก้ไขในส่วนของแก้ไขรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป. ป.ป.ช. ปฏิเสธไม่ได้ว่า จริยธรรมถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย สิ่งเหล่านี้การแก้ไขค่อนข้างชัดเจนระดับหนึ่งในพรรค แต่ไม่อยากขับเคลื่อนพรรคเดียว เพราะนอกจากนายเศรษฐา ยังมี สส.หลายคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต อยากให้เป็นวาระร่วมกัน อาจต้องใช้เวทีเจรจาหลังบ้านกับสมาชิกต่างพรรค และฝ่ายรัฐบาลด้วย

 

ส่วนกรณียุบพรรค คิดว่าหลักการพรรคการเมืองต้องเกิดง่ายตายยาก โทษยุบพรรคควรเป็นหลักสากล โดยในช่วงเดือน ก.ย.นี้ จะมีประชุมเวทีสากลของศาลรัฐธรรมนูญแต่ละประเทศที่ประชุมใน กทม. เรื่องนี้เราอยากจับตามองว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยในสายตาศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ มองประเด็นที่เกิดในไทยอย่างไร คิดว่าเป็นจังหวะอันดีเราเสนอเรื่องนี้ ผลักดันไปพร้อมกันเลย

 

เมื่อถามย้ำว่า การผลักดันให้เป็นวาระร่วมกัน หรือคุย สส.ต่างพรรค จะดำเนินการอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติในทางการเมือง พรรคประชาชนแสดงออกได้ว่า เราไม่ได้โดดเดี่ยว ยินดีทำงานร่วมกับทุกฝ่าย

 

เมื่อถามว่า ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะดำเนินการแบบรายมาตรา ไม่ใช่ทั้งฉบับ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การแก้ทั้งฉบับยังเดินหน้าต่อ แต่ต้องคุยกันเรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ตกผลึก ใช้เวลาอีกระยะ แต่ตอนนี้มีช่วงความเสี่ยง ครม.ชุดใหม่ สมมุติว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งรัฐมนตรีบางท่าน ถูกร้องเช่นเดียวกับนายเศรษฐา คิดว่าเป็นวิกฤติบริหารราชการแผ่นดินอีกครั้ง ถ้า น.ส.แพทองธาร โดนแบบนายเศรษฐา คิดว่าเรื่องนี้เร่งด่วน เราต้องผลักดันได้ผ่านอีกช่องทางคือ แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา กรณีจริยธรรมนักการเมือง

 

นายณัฐพงษ์ ขยายความเรื่องนี้ด้วยว่า ต้องผลักดันเรื่องนิยามให้ชัดเจนแยกเป็น 2 ส่วน คือเรื่องจริยธรรม และโทษ กรณีโทษถ้าถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง การประหารชีวิตทางการเมืองอาจเป็นโทษที่ร้ายแรงเกินไป เรื่องนี้ถามว่าเหมาะสมอยู่ที่เท่าไหร่ กำลังหารือ ส่วนเรื่องร้องเรียน อะไรถูกหรือผิดจริยธรรม ต้องมาหารือกัน เชื่อว่าในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ เราอาจเริ่มได้เห็นหน้าตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา และการแก้ไข พ.ร.ป.มีหน้าตาอย่างไร

 

เมื่อถามว่า จะมีการหารือในพรรคเมื่อไหร่ หรือมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ประมาณ 1-2 สัปดาห์น่าจะชัดเจน ต้องเร่งกระบวนการ เพราะเราต้องหารือกับสมาชิกฝ่ายรัฐบาลด้วย กว่าจะตกผลึก หรือยื่นร่างแก้ไขในการประชุมร่วมรัฐสภา ต้องใช้เวลา มีความเสี่ยงถ้าการแก้ไขนี้ ถูกตีความว่า แก้ไขอำนาจหน้าที่ของศาล หรือองค์กรอิสระ ต้องทำประชามติ ถ้าทำประชามติ จังหวะเหมาะที่สุด ควรทำพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น คือ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้นปีหน้า เพราะ พ.ร.บ.ประชามติ เพิ่งผ่านสภาฯไป พอเส้นเวลาถูกขีดว่า จะต้องทำประชามติ ควรทำกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าเราเดินเรื่องให้เป็นวาระร่วมกัน เราต้องเดินเร็วนิดหนึ่ง