ข่าว

เปิดคำร้องขอยุบเพื่อไทย ยกคำตัดสิน “เศรษฐา” ร้อง กกต. อ้าง “ทักษิณ” ครอบงำ

เปิดคำร้อง ขอยุบพรรคเพื่อไทย มือมืดยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดี “เศรษฐา” อ้างเหตุ “ทักษิณ” ครอบงำ กรณีตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.

ทักษิณ กับ เศรษฐา

26 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2567 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2567 มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่ง"ยุบพรรคเพื่อไทย" เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ "ยุบพรรคก้าวไกล"

 

โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

 

หนังสือร้องเรียนดังกล่าวระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 ได้ฟังข้อเท็จจริงตอนหนึ่งว่า "ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา ทวีสิน) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เข้าพบ "บุคคล" ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว

จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ "บุคคล" ดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เข้าพบ "บุคคล" ดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566

 

เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) หรือ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ....."

 

ผู้ร้องเรียนยังกล่าวอ้างในหนังสือว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นฐานแห่งข้อเท็จจริงที่สำคัญทำให้เห็นถึงการยินยอมของ "นายเศรษฐา ทวีสิน" ให้ผู้อื่น (นายทักษิณ ชินวัตร) ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเพื่อกระทำการโดยมิชอบ และทำให้เห็นว่า "นายทักษิณ ชินวัตร" มีเจตนาชี้นำผ่าน "นายเศรษฐา ทวีสิน" ไปยังพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย "นายเศรษฐา ทวีสิน" ไม่มีอำนาจดำเนินการได้โดยลำพัง

 

แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทย ในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จะต้องรับรู้หรือเห็นชอบในการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง "นายทักษิณ ชินวัตร" ก็รู้ถึงขั้นตอนนี้เนื่องจากเคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมาก่อน ดังนั้น การที่นาย "ทักษิณ ชินวัตร" ชี้นำ "นายเศรษฐา ทวีสิน" จึงมีเจตนาชี้นำผ่าน "นายเศรษฐา ทวีสิน" ไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่า "นายเศรษฐา ทวีสิน" เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ "นายทักษิณ ชินวัตร" จึงเป็นการที่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" ยินยอมดำเนินการตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการเพื่อประโยชน์ของ "นายทักษิณ ชินวัตร" หรือยินยอมตามการชี้นำของ "นายทักษิณ ชินวัตร" แม้จะเคยเห็นว่าไม่ถูกต้อง

 

โดยนำเอาความต้องการของ"นายทักษิณ ชินวัตร"ไปดำเนินการให้พรรคเพื่อไทยเห็นชอบตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยเพื่อให้บรรลุผลตามความต้องการของ "นายทักษิณ ชินวัตร" และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ควรรู้ว่าการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีคนดังกล่าวมาจากการชี้นำของ "นายทักษิณ ชินวัตร" เนื่องจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คือ "นางสาวแพทองธาร ชินวัตร" เป็นบุตรสาว "นายทักษิณ ชินวัตร"

 

โดยปรากฏเป็นข่าว ในสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2567 "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ได้เข้าพบนาย "ทักษิณ ชินวัตร" เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า บ้านพักของ"นายทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี

 

หลังจากนั้น "นายเศรษฐา ทวีสิน" ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้ง "นายพิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี วันที่ 27 เม.ย. 2567

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกลางระหว่างช่วงเวลาที่" นายเศรษฐา ทวีสิน" เข้าพบ"นายทักษิณ ชินวัตร" กับช่วงเวลาก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง "นายพิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรี "นายเศรษฐา ทวีสิน" จะต้องแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเพื่อให้ดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียก่อนที่จะนำความกราบบังคมทูล แม้ว่า "นายเศรษฐา ทวีสิน" ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะมีอำนาจในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็ตาม

 

แต่ด้วยเหตุที่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเสนอชื่อหรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย "นายเศรษฐา ทวีสิน" จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย โดยจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

 

จากข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟัง แสดงให้เห็นว่า "นายเศรษฐา ทวีสิน" ยอมรับการชี้นำของ"นายทักษิณ ชินวัตร" ที่ชี้นำให้เสนอแต่งตั้ง "นายพิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่อาจดำเนินการได้โดยลำพัง จึงต้องนำเอาการชี้นำของ "นายทักษิณ ชินวัตร" แจ้งต่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ให้ยินยอมตามการชี้นำของ "นายทักษิณ ชินวัตร" ด้วย

 

ประกอบกับ คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มี "นางสาวแพทองธาร ชินวัตร" (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค จึงทำให้การชี้นำพรรคเพื่อไทยของ"นายทักษิณ ชินวัตร" ไม่มีข้อติดขัด

 

ดังนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจึงย่อมจะต้องรับรู้และยินยอมต่อการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม

 

เรื่องนี้ "นายเศรษฐา ทวีสิน" หรือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ได้เคยแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการเสนอแต่งตั้ง "นายพิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรีมาก่อน โดยในครั้งนั้นเป็นช่วงเวลาที่ นายทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงทำให้การชี้นำไม่สำเร็จ แต่ในครั้งนี้ "นายทักษิณ ชินวัตร" ได้รับการปล่อยตัวมาอยู่ที่บ้านพักแล้ว และ"นายเศรษฐา ทวีสิน" ได้เข้าไปพบที่บ้านพักและพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด

 

ตามที่ปรากฏภาพข่าว "นายเศรษฐา ทวีสิน" คุกเข่ารดน้ำขอพร "นายทักษิณ ชินวัตร" จึงทำให้การชี้นำประสบความสำเร็จ การชี้นำของ "นายทักษิณ ชินวัตร" ที่ทำสำเร็จครั้งนี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

 

ผู้ร้อง ยังระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้พรรคการเมืองกระทำ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 จะเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และการกระทำของ"นายทักษิณ ชินวัตร" เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม มาตรา 29 ที่ มีโทษปรับและจำคุก ตามมาตรา 108

 

นอกจากนี้ ผู้ร้องยังระบุว่า มีเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ที่แสดงถึงการยินยอมของพรรคเพื่อไทย ให้  "นายทักษิณ ชินวัตร" ที่เป็นบุคคลอื่นที่ไม่เป็นสมาชิก ชี้นำกิจกรรมของพรรค โดยปรากฏชัดต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนโดยทั่วไป ซึ่งทำให้วิญญูชนทั่วไปเข้าใจได้ชัดเจนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยขาดความอิสระ ได้แก่ เหตุการณ์และพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์และการยอมรับการชี้นำจาก "นายทักษิณ ชินวัตร" ของพรรคเพื่อไทย ในช่วงเวลาหลังจาก "นายทักษิณ ชินวัตร" เดินทางกลับมาประเทศไทย

 

โดยที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ซึ่งตามข้อบังคับจะต้องมีองค์ประชุมประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าร่วมประชุม ช่วงแรกของการประชุมได้นำวิดีโอมาฉายให้สมาชิกรับชมในที่ประชุม

 

โดยมีเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคำกล่าวของ "นายทักษิณ ชินวัตร" ในลักษณะให้โอวาทแก่สมาชิกพรรคเพื่อไทย โดย "นายทักษิณ ชินวัตร" ได้ชี้นำต่อสมาชิกพรรคเพื่อไทยและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยว่า 1.ต้องเข้าถึงประชาชนทั้งด้วยตนเองหรือด้วยสื่อ

2.อย่าเป็นคนที่ไม่เข้าถึงประชาชน 3.ต้องสะท้อนปัญหาในสภา แม้ไม่ใช่ผู้บริหาร 4.ส.ส.เพื่อไทยต้องเข้าถึงประชาชน 5.การทำงานในสภาต้องเข้มแข็ง 6. ต้องเป็นนักการเมืองที่รักประชาชน 7.อย่าเสแสร้งแค่ไม่กี่วันหรือหนึ่งเดือนก่อนเลือกตั้ง และ 8.ต้องอยู่กับชาวบ้านให้ได้

 

การที่พรรคเพื่อไทย นำวิดีโอมาเปิดในที่ประชุมใหญ่ของพรรคก่อนเริ่มกิจกรรมอื่น มีเจตนาให้สมาชิกทุกคนเชื่อฟังและปฏิบัติตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำ อันเป็นการยินยอมรับการชี้นำของ "นายทักษิณ ชินวัตร" ต่อกิจกรรมของพรรค ซึ่งสมาชิกอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเมืองที่ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมใหม่ และวิธีการทำงานที่ "นายทักษิณ ชินวัตร" ชี้นำ แต่อาจต้องปฏิบัติตาม

 

เนื่องจาก "นายทักษิณ ชินวัตร" เคยเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สืบต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชน และปัจจุบันเป็นพรรคเพื่อไทย อีกทั้งเป็นบิดาของ "นางสาวแพทองธาร ชินวัตร" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษต่อสมาชิกในการคัดเลือกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงทำให้สมาชิกขาดความอิสระจากการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตามคลิปวิดีโอในเว็ปไซต์ยูทูป

 

ผู้ร้องเรียน ระบุต่อไปว่า นอกจากนี้ "นายชวน หลีกภัย" อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนผู้แทนราษฎร เป็นนักการเมืองอาวุโสที่มีภาพลักษณ์ดีในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ได้พูดในรายการคมชัดลึก สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ว่า การปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะมีขึ้น ได้พูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าคนที่จะปรับคณะรัฐมนตรีไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนนี้ แต่เป็นคนนอก อันแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นที่มิใช่คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยครอบงำหรือมีอำนาจเหนือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย และเหนือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ปรากฏตามคลิปวิดีโอรายการคมชัดลึกในเว็ปไซต์ยูทูป

 

หนังสือร้องเรียนดังกล่าวระบุตอนท้ายว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ทันที เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องสอบสวนอีกตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 10/2567 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล

 

ข่าวยอดนิยม