ข่าว

เปิดใจ "มาดามเดียร์" ลั่นยึดมั่นอุดมการณ์ หลัง มติ ปชป. ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

เปิดใจ "มาดามเดียร์" ลั่นยึดมั่นอุดมการณ์ หลัง มติ ปชป. ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

30 ส.ค. 2567

"มาดามเดียร์" เปิดใจ หลังพรรคประชาธิปัตย์ มีมติร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ลั่นมีจุดยืนและยึดมั่นอุดมการณ์ พร้อมเผยถึงเบื้องลึกข่าวกระเซ็นกระสาย ผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบันพยายามทอดไมตรี

30 ส.ค. 2567 น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ให้สัมภาษณ์ เครือเนชั่น กรณีพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ว่า  เดียร์ได้แสดงความคิดเห็นถึงจุดยืนไปก่อนหน้านี้ ว่าไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ แต่ในเหตุผลสำหรับตัวเดียร์เอง คงไม่ใช่เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย เป็นคู่ขัดแย้งกันมาในอดีต อันนั้นเป็นเรื่องในอดีต

 

อย่างที่เดียร์ได้พูดถึงจุดยืนมานั้น คิดว่าสิ่งที่วันนี้เราต้องแสดงเจตจำนงค์ให้ชัดเจน นั่นหมายถึงว่าในการทำการเมืองเราต้องเคารพในเสียงของประชาชนก่อน ซึ่งในผลการเลือกตั้งในปี 66 ที่ผ่านมา เดียร์ว่า การที่ ปชป. เราได้จำนวนที่นั่งของ สส.ลดเหลือจำนวน 25 ที่นั่ง กำลังบอกอะไรได้หลายๆอย่าง ข้อแรกประชาชนส่วนใหญ่วันนี้ เขาไม่ได้ให้ความไว้วางใจในพรรค ปชป. ในการที่จะเข้าไปทำหน้าที่ เป็นตัวแทนของพวกเขา

 

อันที่สอง ประชาชนกว่า 9 แสนเสียง ที่ยังเลือกในพรรคปชป. และพร้อมที่จะให้โอกาสให้ความไว้ใจในพรรค ปชป. เข้าไปเป็นตัวแทนในสภา แน่นอนว่าประชาชนเหล่านี้เขาเป็นประชาชนที่เป็นแฟนคลับที่ต่อสู้ร่วมอุดมการณ์กับพรรค ซึ่งในอุดมการณ์ของพรรคในระยะเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คงจะเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างพรรคปชป.กับพรรคเพื่อไทย และ เดียร์เชื่อมั่นว่า ประชาชนที่ให้ความไว้วางใจในพรรค ปชป. จำนวนไม่น้อยตรงนี้ คงจะไม่เห็นด้วย หรือแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พรรค ปชป. ณ วันนี้ จะละทิ้งอุดมการณ์ ไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

หากเรามาพิจารณาประชาชน เดียร์คิดว่ามันเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่ในวันนี้พรรค ปชป. จะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คือ การทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้าน ในการที่จะต้องตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลให้มีความเข้มแข็งมากที่สุด เพื่อที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน

 

เมื่อถามเป็นห่วงไหม ว่า ณ วันนี้คนที่เคยร่วมอุดมการณ์กับพรรคประชาธิปัตย์ จะมีจำนวนลดน้อยลง หลังมีมติร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย มาดามเดียร์ กล่าวว่า มันคงลดน้อยลงอย่างแน่นอน ในเมื่อเดียร์เชื่อมั่นว่าประชาชนให้ความไว้วางใจเลือก สส. เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้ว เดียร์ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นหมายถึงเราต้องมีความชัดเจนในเรื่องของจุดยืนและอุดมการณ์ ของพรรคและตัวสส.ให้ได้ก่อน

 

แต่ในวันนี้ในขณะที่ คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันของพรรค ปชป. ได้เลือกที่จะละทิ้งอุดมการณ์ เพื่อที่จะเข้าไปสู่ประโยชน์และอำนาจของตัวเอง แน่นอนว่าประชาชนในจำนวนหนึ่ง ก็จะต้องเกิดความผิดหวัง และต้องสละทิ้งพรรค ปชป. ในการให้โอกาส สส.ปชป.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างแน่นอน อันนี้เป็นสิ่งที่คงจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แต่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เดียร์คิดว่าหน้าที่ของพรรคปชป. สมาชิกพรรคทุกคนที่ยังเหลืออยู่ มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องน้อมรับในผลของการกระทำที่เกิดขึ้น และต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อไปในอนาคต

มาดามเดียร์

อนาคตพรรค ปชป.สูญเสียคะแนนนิยมอย่างแน่นอน วันนี้ที่เรารู้สึกไม่ต่างกัน คือ พรรคเลือกที่จะละทิ้งจุดยืนอุดมการณ์ของตัวเอง มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำของพรรค ปชป. ในช่วงการเมืองที่ใกล้เคียงที่สุด คือ การต่อสู้ไม่ใช่แค่กับพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาถึงพรรคเพื่อไทย

 

แต่ว่า ณ วันนี้ อยู่ดีดีจุดยืนสิ่งที่พรรค ปชป.ต่อสู้มาตลอด คุณก็พร้อมจะละทิ้ง เดียร์คิดว่าประชาชนทุกคนต่างรับรู้กันดีว่า มันไม่ได้ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างที่ผู้บริหารให้คำกล่าวอ้างไว้ แต่ว่ามันเป็นความต้องการที่อยากจะเข้าไปสู่ประโยชน์และอำนาจ เพื่อตัวเองและพวกพ้องมากกว่า ถามว่าทำไม เดียร์ว่าเราพิสูจน์ทราบให้เห็นได้ คือ ตั้งแต่ในการเลือกนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถ้าจำเหตุการณ์กันได้ในวันนั้น สส.ปชป.16 เสียง กลับโหวตมติพรรค สนับสนุนโหวตให้คุณเศรษฐา เป็นนายกฯ ทั้งๆที่ในวันนั้น เราไม่ได้รับเทียบเชิญในการเข้าร่วมรัฐบาล พูดง่ายๆเราเป็นฝ่ายค้าน แต่เรายังไปโหวตให้พรรคเพื่อไทย

 

ถามว่าทำไมเป็นเช่นนั้น เดียร์ว่าประชาชน พี่ๆสื่อมวลชนเอง ประชาชนรับทราบไม่ต่างกันว่า คุณกำลังพยายามอยากจะทอดไมตรี หรือพยายามจะส่งสัญญาณไปยังผู้บริหารพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ ในการที่คุณบอกว่า เหตุการณ์ในวันใดวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ครม.หรือรัฐบาลในอนาคต คุณก็อยากจะสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทยไว้ อันนี้เป็นเหตุการณ์ที่เราเห็นได้ชัดเจน

 

แต่มันไม่จบแค่นั้น แต่ว่าเราก็จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา พรรคปชป. มีข่าวลือกระเซ็นกระสายในการที่จะติดต่อไปขอร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด หรือจนกระทั่งในการโหวต พรบ.งบประมาณเพิ่มเติมในปี 2567 ที่เพิ่งเกิดขึ้น พรรคปชป. จริงๆ เรามีมติในรอบนี้ไม่ใช่แค่งดออกเสียง แต่เรามีมติว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ปรากฏว่า สส.กลุ่มเดิม จำนวนเดิม รอบนี้ไม่เข้าโหวตในสภาเลย ถามว่าเพราะเหตุใด

 

และที่สำคัญที่สุด แม้จะมีการโหวตมติพรรคร่วมกัน ระหว่าง สส. กับ กรรมการบริหารพรรค ตามข้อบังคับพรรคไปแล้วเมื่อวาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทั่งผู้บริหารที่พยายามออกมาตอบคำถามสื่อมวลชน มันก็ทำให้เราเห็นมาตลอดว่าคุณมีการดิวในเรื่องของการ่วมรัฐบาลมาตลอดใช่หรือไม่ ถ้าคุณไม่เคยดิว แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่า เก้าอี้จะได้ 2 ตำแหน่ง รมว.1 ตำแหน่ง และ รมช.1 ตำแหน่ง

 

ถ้าคุณไม่มีการดิวมาก่อน คุณจะทราบได้อย่างไร ถ้าคุณไม่เคยดิวมาก่อน แล้วคุณมีการส่งรายชื่อของคนที่เห็นว่าจะดำรงตำแหน่ง รมต.ไปยังสำนักนายกฯ เพื่อให้มีการตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติได้อย่างไร ถ้ามันไม่เคยมีการพูดคุย หรือพูดง่ายๆก็คือมีความพยายามที่จะหาสบช่องหาโอกาสวิธีใดก็ได้ เพื่อที่จะนำพาตัวเองเข้าสู่การร่วมรัฐบาลในการปรับ ครม.ครั้งนี้ ซึ่งเดียร์คิดว่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราเห็นว่า การก้าวข้ามความขัดแย้งเกิดขึ้นจริง หรือว่า สรุปแล้วเป็นแค่วาทกรรมที่คุณใช้แอบอ้าง เพื่อที่จะเอาตัวเอง เข้าไปสู่ผลประโยชน์และอำนาจที่คุณพยายามมองหาช่องทางเหล่านี้มาตลอด และเผยให้เห็นต่อหน้าสาธารณชนมาโดยตลอด

 

ถามถึงบทบาทของ ปชป.ต่อจากนี้ ในเมื่อ พรรคเพื่อไทยถูกจัดวางให้เป็นพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมใหม่ จะเห็นได้ว่าอีกฝั่งเป็นพรรคประชาชน ซึ่งมีแนวทางอีกรูปแบบไปเลย โดยขั้วที่เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมประสานกับเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้น ปชป.เองยึดมั่นอุดมการณ์ แต่สถานการณ์ที่กลายเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งประชาชน ฝั่งหนึ่งเพื่อไทย ค่อนข้างยากลำบากมากๆ ปชป.ควรจะวางบริบทตัวเองไว้ยังไง ในโอกาสต่อๆไป เพื่อฟื้นศรัทธาประชาชน และมีโอกาสกลับไปเป็นรัฐบาลได้ในอนาคต

 

มาดามเดียร์ กล่าวว่า จริงๆไม่ยากเลย ต้องบอกว่าอุดมการณ์ 10 ข้อ ที่คณะผู้ก่อตั้ง ปชป. เขียนไว้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว วันนี้มันก็ยังทันสมัยอยู่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่คำประกาศ อุดมการณ์ คือ พรรค ปชป.จะเป็นพรรคที่ยึดมั่นในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย จะเป็นพรรคที่ต่อสู้ไม่ยึดในแนวทางของเผด็จการ หรือเราเชื่อในเรื่องของการแทรกแซงของรัฐเท่าที่จำเป็น ในตราบเท่าที่เพื่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง ไม่ให้เกิดการผูกขาดและความเหลื่อมล้ำ เราเชื่อในหลักการเหล่านี้ ซึ่งเดียร์คิดว่า ณ ทุกวันนี้มันก็ยังมีความชัดเจน และมีความทันสมัยอยู่ตลอด

 

การที่เราจะทำพรรคการเมือง ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเลือกว่าเราจะไปอยู่ขั้วใดหรือฝั่งใด เพราะนั่นหมายถึงว่า ถ้าเราวางสถานะของตัวเองว่าเราจะต้องไปเป็นฝั่ง ซ้าย ขวา ขั้วเพื่อไทย หรือเพื่อประชาชน เดียร์คิดว่าตั้งแต่วิธีการคิดแรกก็ผิดแล้ว เพราะนั่นหมายความว่าหลักของพรรคการเมือง การที่คนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน มีแนวคิดเหมือนกัน มารวมตัวกัน เพื่อจะผลักดันแนวนโยบายของตัวเอง ไปสู่ระบบการเมืองใหญ่ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน เพราะฉะนั้นตั้งแต่แนวคิดแรกเราก็ไม่ควรมีความคิดว่า เราจะไปอยู่ข้างใคร เป็นตัวเลือก เป็นที่สองรองจากใคร

 

แต่เราจะต้อง นำเสนออุดมการณ์ นำเสนอแนวนโยบาย มีแนวคิดที่เราเชื่อในศรัทธา หากประชาชนมีแนวคิดเหมือนเรามากพอ ในวันนั้นเราก็จะได้รับเสียงจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น เป็นหลักในการทำงานที่ตรงไปตรงมาอย่างง่ายๆ และเชื่อมั่นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด ต่อจากนี้ควรจะดำเนินการไปก็คือ นักการเมืองเองควรจะทำงานกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคิดอะไรที่ซับซ้อน เพราะหลักของมันก็คือ การที่เรามาเป็นตัวแทนประชาชน คือการมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ไม่จำเป็นต้องคิดว่ามันเป็นกลไกซับซ้อน เพราะยิ่งคิดซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็หมายถึงว่าคุณกำลังคิดไม่ซื่อตรงกับประชาชนมากขึ้นเท่านั้น

 

เมื่อถาม ยังอยู่พรรค ปชป.ต่อไปใช่หรือไม่ มาดามเดียร์ ยอมรับว่า เราก็คิดหนัก แต่พอเรากลับมาดูหลักการในเมื่อพรรคการเมืองมันเกิดขึ้นจากเจตจำนงที่คนคิดเหมือนกันมาทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันแนวอุดมการณ์ร่วมกันไปสู่สังคมไปสู่การเมืองใหญ่ คิดว่าเมื่อเรากลับมาพิจารณาตรงนี้ ต้องบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ มันเกิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่งที่เผอิญวันนี้เขามีอำนาจในการบริหารพรรค ปชป. อยู่ แต่ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าคนทั้งหมดของ ปชป.สมาชิกทั้งหมดของปชป. จะเห็นตรงกับคณะผู้บริหารชุดนี้ เหมือนตัวเดียร์เอง ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่เราไม่เห็นด้วย และที่ได้คุยกับสมาชิกจำนวนหลายๆคน ก็จำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับคณะผู้บริหารชุดนี้ เพียงแต่ด้วยกลไกของพรรคที่วันนี้เราไม่มีเจ้าของ เรามีระบบในการทำงานชัดเจน ก็ต้องยอมรับว่าเราก็อาจจะไม่ได้มีสิทธิมีเสียงในการที่จะเข้าไปตัดสินใจเข้าร่วมโหวตเข้าร่วมในรัฐบาลนี้หรือไม่

 

สิ่งที่เดียร์และสมาชิกอีกจำนวนมาก จริงๆแล้ว เรามีอุดมการณ์เรามีแนวคิดที่มีศรัทธาเช่นเดียวกัน  เดียร์ว่ามันเป็นเหตุผลในส่วนหนึ่งที่เดียร์ก็หวังว่าในอนาคตข้างหน้า ซึ่งพรรคปชป.เองวันนี้เราพิสูจน์อย่างหนึ่งคือ เราเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ เป็นพรรคที่เรามีการปรับเปลี่ยนตลอด และผู้บริหารหัวหน้าพรรค ไม่ได้สืบทอดโดยสายเลือด สืบทอดโดยยึดโยงจากแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นหมายถึงว่า หากในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า กลุ่มคนที่มีความคิดตรงกันกับเดียร์ ที่เราศรัทธา ที่เราจะต้องฟื้นฟูพรรคจากอุดมการณ์ ได้มีโอกาสที่จะบริหารพรรค เดียร์ว่าถึงวันนั้นเดียร์เองก็ยังพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพรรคต่อไป