ศาลสั่งจำคุก "สมหญิง บัวบุตร" อดีต สส.เพื่อไทย 3 ปี 4 เดือน แต่ให้รอลงอาญา
ศาลสั่งจำคุก "สมหญิง บัวบุตร" อดีต สส.เพื่อไทย 3 ปี 4 เดือน แต่ให้รอลงอาญา คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง สนามฟุตซอลโรงเรียนฯ
จากกรณีเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นางสมหญิง บัวบุตร สส.พรรคเพื่อไทย จ.อำนาจเจริญ (ในขณะนั้น) กับพวก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ.2555 งบแปรญัตติ ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดอำนาจเจริญ ทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงานปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล)
มีลักษณะมุ่งหมายมีให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่การเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐและการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและวิธีการสร้างสนามกีฬา ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง พร้อมส่งรายงานไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานไปให้อัยการสูงสุดฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ต่อมาวันที่ 22 ก.ย. 2565 อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ยื่นฟ้อง นางสมหญิง กับพวกรวม 12 คน เป็นจําเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามคดีหมายเลขดำ ที่ อม.18/2565 โดยศาลฯ ประทับรับฟ้องคดี นางสมหญิง กับพวกรวม 12 คน ตามที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี เมื่อ 8 พ.ย.2565
ล่าสุดวันนี้ (5 ก.ย. 2567) ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดย นางสมหญิง บัวบุตร อดีตสส.พรรคเพื่อไทย พร้อมพวกรวม 12ราย และทนายความความ ได้เดินทางเข้ายังศาลฎีกาตั้งแต่ช่วงเช้า ใช้เวลาฟังคำพิพากษา ประมาณ 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ
ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า นางสมหญิง บัวบุตร อดีต สส.พรรคเพื่อไทย จําเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบประมวล กฎหมายอาญารมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 100,000 บาท
แต่องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ขณะเกิดเหตุจําเลยที่ 1 เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกได้ เพียง 3 เดือนเศษ และไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างใด
หลังเกิดเหตุจําเลยที่ 1 นําคณะครูไปยังสํานักตรวจสอบพิเศษภาค 5 เพื่อแจ้งปัญหาการก่อสร้าง สนามฟุตซอลไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเหตุที่ทําให้มีการบอกเลิกสัญญาในบางโรงเรียน เป็นการระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ได้รับโทษจําคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจําคุกไว้มีกําหนด 3 ปี
ภายหลังจากที่ศาลฎีกา ได้มีคำสั่งพิพากษา นางสมหญิง เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า วันนี้รู้สึกโล่งใจ และดีใจ ที่คดีสิ้นสุดแล้ว วันนี้ศาลมีความเมตตาตัดสินในการให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ก่อน ซึ่งตนก็ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจไปแล้วว่า ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือรู้เห็นกับเรื่องราวการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ซึ่งถ้าคนในพื้นที่ก็จะรู้ว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้อง
ส่วนเส้นทางการเมืองหลังจากนี้ ปัจจุบันไม่ได้มีความสนุกเหมือนเมื่อก่อน ประกอบกับตนอายุเข้าเลข 6 แล้ว ถ้าจะให้ลงการเมืองอีกคงต้องขอคิดดูก่อน แต่ถ้าในอนาคตการเมืองมีความนิ่งกว่านี้ อาจจะมีการส่งเสริมลูกหลานเข้ามาร่วมเล่นการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนจำเลยที่ 2 คือนายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 127/1 กระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จําคุก 5 ปี และปรับ 150,000 บาท
แต่องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าจําเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน คงกระทําความผิดไป ตามเงื่อนไขในชั้นกรรมาธิการ ว่าจะต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดประกอบ การจัดสรรงบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎร โดยการประสานงานจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจําเลยที่ 2 มุ่งหวัง จะให้มีการจัดสรรรบประมาณรายจ่าย (งบแปรญัตติ) เพิ่มเติมให้แก่หน่วยงานในสังกัดของตนเท่านั้น
ต่อมาได้มีการสร้างสนามฟุตซอล เพื่อประโยชน์ของโรงเรียนจริง โดยจําเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบกับจําเลยที่ 2 อายุ 71 ปีเศษ ปฏิบัติหน้าที่ราชการมาเป็นเวลานาน นับว่ามีคุณงามความดีมาก่อน ประกอบกับทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ได้รับโทษจําคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจําคุกไว้มีกําหนด 3 ปี
ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทฯ และคณะกรรมการฯ ที่มีการยื่นเสนอราคา ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษ จําคุกจําเลยที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 11 คนละ 2 ปี และปรับจําเลยที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 เป็นเงินคนละ 22,467,500 บาท
แต่ในทางนําสืบของจําเลยที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก จําเลยที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 11 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจําเลยที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 คนละ 14, 978, 333.333 บาท
สำหรับจำเลยที่ 12 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 จำคุกจำเลยที่12 มีกําหนด 2 ปี โดยไม่มีเหตุบรรเทาโทษ เนื่องจากจําเลยที่ 12 ได้เข้าไปมีส่วนสําคัญในการชี้แจงแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง
มีการแจกซองเอกสารระบุชื่อโรงเรียน และแผ่นซีดีที่มีข้อมูลการจัดทําเอกสาร การจัดซื้อจัดจ้าง อันบ่งชี้ว่ามีการวางแผนตระเตรียมการล่วงหน้า จนนำไปสู่การกำหนดร่างขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะให้มีในรายการหนังสือเป็นเงื่อนไขในการประกวดราคา ซึ่งเป็นช่องทางอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการกีดกัน มิให้บุคคลอื่นเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาได้อย่างเท้าเทียมกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังจากทราบว่า หจก. ต. ชนะการประกวดราคา จำเลยที่ 12 ได้โทรศัพท์ไปหาผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ในลักษณะแสดงความไม่พอใจ นับว่าผิดปกติวิสัยของผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันเสนอราคาเป็นอย่างยิ่ง จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 12 มีส่วนพยายามกีดกัน ผู้ประกอบการอื่นมิให้สามารถแข่งขันราคากับกลุ่มของจำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้อย่างเป็นธรรม
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม