ข่าว

มัดรวม 10 พันธกิจเร่งด่วน 9 ข้อความท้าทาย รัฐบาล “แพทองธาร”

09 ก.ย. 2567

มัดรวม 10 พันธกิจเร่งด่วน 9 ข้อความท้าทาย พันธกิจรัฐบาล “แพทองธาร” คล้ายวิสัยทัศน์ “ทักษิณ” ในสเปเชียลทอล์ค Vision for Thailand 2024

แพทองธาร ชินวัตร

'รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี ก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ มีวาระต้องแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา วันที่ 12-13 ก.ย. 67 ร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาล จัดทำแล้วเสร็จ เนื้อหารายละเอียดมีทั้งสิ้น 75 หน้า มีการเรียบเรียง แบ่งเป็น

 

นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ กับ นโยบายระยะกลาง ระยะยาว ที่รัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมจะทำอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม ต่อยอดอุตสาหกรรมอนาคต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันส่งเสริมพัฒนาคน ความหลากหลายทางเพศ พลิกฟื้นความเชื่อมั่นฯ

 

เมื่อลองสำรวจ พบว่า นโยบายที่บรรจุในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา แนวคิด วิธีการ ถ้อยคำ หลายนโยบาย คล้ายกับ แนวคิด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยประกาศผ่านเวที Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 ที่จัดโดยเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแจกเงิน ดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ลงทะเบียน เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน การลงทุน  โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กาสิโนถูกกฎหมาย การนำเศรษฐกิจใต้ดินสู่ระบบภาษีขยายฐานจีดีพีประเทศ

 

การให้ความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าราคาเดียวหรือไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย การให้ความสำคัญธุรกิจสีเขียว การแก้ปัญหายาเสพติด 

 

การให้ความสำคัญธุรกิจเอ็สเอ็มอี ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ออกมาตรการลดราคาพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมท่องเที่ยว จัดการยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ

 

10 นโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาล “แพทองธาร” ประกอบด้วย

 

นโยบายที่ 1 รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

 

ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

 

นโยบายที่ 2 รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ

 

โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

นโยบายที่ 3 รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA)

 

รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน

 

พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

 

นโยบายที่ 4 รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP

 

เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

นโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก

 

และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ

 

นโยบายที่ 6 รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech)

 

มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร

 

นโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE)

 

และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations)

 

เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

 

นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น

 

ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม

 

นโยบายที่ 9 รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

 

นโยบายที่ 10 รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ

 

โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

สำหรับ 9 ความท้าทาย รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ประกอบด้วย

 

1.ความท้าทายของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ กับรายจ่าย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาหนี้นอกระบบภายใต้บริบทของความเหลื่อมล้ำของรายได้ ระหว่างคนจนและคนรวย และความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน

 

2.สังคมและเศรษฐกิจถูกท้าทายด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่าระดับการพัฒนาประเทศและเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยในปี 2566 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าอีก 10 ปี จะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society)ในขณะที่มีอัตราการเกิดลดลง

 

คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ ถึงร้อยละ 64.7 คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีในทุกทักษะ นอกจากนี้ ยังมีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน และยิ่งไปกว่านั้น คนไทยทุกช่วงวัย กำลังเผชิญกับภาวะเครียดสะสมรุนแรงขึ้น คาดว่าขณะนี้มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

 

3.ความมั่นคง ปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาด ของยาเสพติด โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 พบว่ามีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.9 ล้านคน นอกจากนี้ อาชญากรรมออนไลน์และการพนันออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติการรับแจ้งความ กว่า 5 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท

 

4.ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง กระทบต่อความสามารถในการจ้างงาน การปรับค่าจ้างแรงงาน และกลายเป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

5.ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technological Disruption) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน และแนวโน้มความต้องการใหม่ ๆ ของโลก

 

ในขณะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ต้องลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน หรือปิดตัวลง สะท้อนให้เห็นจากอัตราการใช้ กำลังการผลิตที่ลดระดับลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 60

 

6.สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว ทั้งภาวะภัยแล้ง ฝนตกหนักผิกปกติ และปัญหามลพิษทางอากาศ โดยในปี 2566 มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า 10 ล้านคน

 

7.ประเทศไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

8.ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์ และตอบสนองความต้องการ ของประชาชนได้ไม่เต็มที่ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจ และบทบาทซ้ำซ้อน โครงสร้างของหน่วยราชการที่แตกกระจายและไม่ประสานร่วมมือกัน มีการขยายตัวไปสู่สำนักงานส่วนภูมิภาคมากเกินความจำเป็น ระบบขนาดใหญ่โต เทอะทะ และเชื่องช้า รูปแบบการประเมิน และตัวชี้วัดการทำงานไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร ขนาดและศักยภาพ ไม่ทันกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเป็นภาระของประชาชนในการใช้บริการอีกด้วย

 

9.ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป เกิดการแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ การกีดกันทางการค้า (Protectionism)

 

โดยร่างนโยบาย รัฐบาลแพทองธาร ระบุว่า รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนพลิกความท้าทายเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ให้กับประชาชนทุกคน และต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต

 

พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร เพื่อตอบสนองปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ พลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและสากล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นความภูมิใจของคนไทย ที่นานาประเทศให้การยอมรับและเชื่อถือ

 

ทั้งหมดนี้คือ “ความท้าทาย” ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน (Collaboration) เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม พลิกฟื้นประเทศให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และมีพื้นฐานศักยภาพที่แข็งแกร่ง