นายกฯ แพทองธาร นัดถก ก.ตร. วาระพิเศษ เลือก "ผบ.ตร.คนที่ 15" วันที่ 7 ต.ค. นี้
นายกฯ แพทองธาร นัดถก ก.ตร. วาระพิเศษ 7 ต.ค. นี้ เลือก "ผบ.ตร.คนที่ 15" คาด "บิ๊กต่าย" ม้าเต็ง เข้าวิน นั่งเก้าอี้พิทักษ์ 1
29 ก.ย. 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร.วาระพิเศษ ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ณ ห้องประชุมศรียานนท์ โดยมีวาระคัดเลือกแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แทน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.ที่เกษียณอายุราชการ
โดยคาดว่าจะมีการเสนอชื่อ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับ 1 ขึ้นเป็น ผบ.ตร. จากผู้ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. อาวุโส ลำดับ 1 พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ อาวุโสลำดับ 2 และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับ 3
สำหรับเหตุผลที่นายกฯ จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ที่ครองอาวุโสและทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. สานต่อนโยบายยาเสพติดของรัฐบาล และปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ได้ดี ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ สายตำรวจ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก เนื่องจากบทเรียนการประชุม ก.ตร. แต่งตั้ง ผบ.ตร.ในปีที่ผ่านมาเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อาวุโส ลำดับสุดท้ายข้ามมาเป็นผบ.ตร. เป็นเรื่องที่ฟ้องร้องที่ ป.ป.ช.
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ปี 2567 จะเป็นการแต่งตั้งตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ครั้งแรก โดยกฏหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจ และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งฯ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 จะมีผลบังคับใช้ 180 วัน หลังจากนั้น หมายความว่ากฎ ก.ตร.ฉบับนี้ จะมีผลหลังวันที่ 2 ต.ค. นี้
"ในการพิจารณาคัดเลือก ผบ.ตร. ซึ่งหลักเกณฑ์ตามกฎหมายให้คำนึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ งานสืบสวนสอบสวนและงานป้องกันปราบปราม ส่วนตัวพิจารณาอาวุโสและความรู้ความสามารถลำดับต้นๆ ให้ความสำคัญคนที่อาวุโสที่ 1 มีความรู้ความสามารถ หากจะข้ามไปในระดับรองลงมาต้องมีบันทึกเหตุผล ปีที่ผ่านมาพิจารณาอาวุโสสุดท้ายขึ้นมามีปัญหาฟ้องร้องและร้องเรียน" ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก ผบ.ตร.
ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 มาตรา 78 ระบุว่าให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยระหว่างที่พิจารณาวาระดังกล่าว พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ, พล.ต.อ.ไกรบุญ และพล.ต.อ.ธนา จะต้องออกจากห้องประชุม เนื่องจากถือว่ามีส่วนได้เสีย
องค์ประชุมจึงมีเพียง น.ส.แพทองธาร ในฐานะประธาน น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร., นายปิยะวัฒน์ ศิวะรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะก.ตร. โดยตำแหน่ง และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ รองศาตราจารย์ประทิต สันติประภพ และศาสตราจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ
ประวัติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ “บิ๊กต่าย” จะเกษียณอายุปี 2569 เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 25 รุ่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 41 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส., พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร.
รับราชการตำรวจครั้งแรกตำแหน่ง รอง สว.สอบสวน สภ.อ.เมืองระยอง ติดยศ พล.ต.ต.เป็นเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผบก.ส. 1 ทำงานด้านข่าวกรอง รอง จตร.(สบ 7) รอง ผบช.สกพ. ติดยศ พล.ต.ท. เป็น ผบช.ประจำ สำนักงาน ผบ.ตร. โยกเป็น ผบช.ภ.8 ผู้ช่วยผบ.ตร.และ รอง ผบ.ตร.
สมัยเป็น ผบช.ภาค 8 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ รับมอบหมายเป็น ผบ.เหตุการณ์อดีตทหารเกณฑ์คลั่งไล่ฆ่า 2 ศพ พื้นที่ อ.เมืองระนอง แต่สิ่งที่ทำให้โดดเด่นมากที่สุดคือ การลงมาจับงานด้านการปราบปราม อาทิ นโยบายการปิดล้อมตรวจค้นชุมชนเป้าหมาย ตามโครงการปิดล้อมตรวจค้นชุมชนแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ “เด็ดปีกนักค้า รักษาผู้เสพ สร้างชุมชนปลอดภัยยาเสพติด” ซึ่งจับกุมยาเสพติดบิ๊กล็อตในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
ส่วนงานที่เรียกว่าเปิดตัวเป็นกระแสรู้จักของสาธารณชนคือ การดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทน ผบ.ตร. เป็นระยะเวลานาน 3 เดือน ระหว่างนี้มีความพยายามกอบกู้ภาพลักษณ์หลังประชาชนหมดศรัทธาองค์กร โดยเน้นส่งสารผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อแทบทุกครั้งจะเน้นไปที่การสร้างขวัญและกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา