เปิด 5 ขั้นตอน ที่ประชุม ก.ตร. โหวตแต่งตั้ง ผบ.ตร. 2567
เปิด 5 ขั้นตอน ในการประชุม ก.ตร. โหวตเห็นชอบแต่งตั้ง ผบ.ตร. 2567 ต้องมีองค์ประชุมกี่คน คะแนนเสียงจำนวนท่าไหร่
3 ต.ค. 2567 นับถอยหลังเหลืออีกเพียง 4 วัน ก็จะรู้ชื่อที่แน่ชัดแล้วว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร.คนที่ 15 จะเป็นใคร
โดยในวันที่ 7 ต.ค. 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะนั่งเป็นหัวโต๊ะ ประชุม ก.ตร.เพื่อพิจารณาเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ ต่อจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนที่ 14 ที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567
เป็นการพิจารณาเลือก ผบ.ตร. ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2567 ใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยในวาระการแต่งตั้ง ผบ.ตร. 2567 มี รองผบ.ตร. 3 คน ที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ และมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร. ประกอบด้วย
- พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2569 อาวุโสลำดับ 1
- พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ เกษียณอายุราชการ ปี 2568 อาวุโสลำดับ 2
- พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการปี 2569 อาวุโสลำดับ 3
เปิดขั้นตอนในการประชุมเลือกเฟ้น ผบ.ตร. ของที่ประชุม ก.ตร. จะต้องมีองค์ประชุมกี่คน และจะต้องมีคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบจำนวนกี่คน
โดยจำนวน ก.ตร. นับรวมนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนั่งเป็นหัวโต๊ะ มีจำนวนทั้งสิ้น 13 คน ประกอบด้วย
- น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธาน ก.ตร.
ส่วนกรรมการ ก.ตร. 12 คน ประกอบด้วย
- น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร.
- นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ.
- พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.
- พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จตช.
- พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.
- รศ.ประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
- พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
- พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รรท.รองผบ.ตร.
- นายศุภชัย ยาวะประภาษ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
- พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
- พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
- นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
องค์ประชุม จะต้องมีจำนวน 2 ใน 3 นั่นหมายถึงต้องมี 9 คนขึ้นไป จึงจะครบองค์ประชุม
เปิด 5 ขั้นตอนในการโหวตเลือก ผบ.ตร. ของที่ประชุม ก.ตร.
- น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธาน ก.ตร. จะต้องเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น ผบ.ตร. ต่อที่ประชุม จำนวน 1 คน
- รองผบ.ตร.ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต 3 คน ออกจากห้องประชุม เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นไปตามมารยาท
- ที่ประชุม อภิปรายถึงคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสม ของผู้ที่นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร. รวมถึงแคนดิเดตอีก 2 คน
- ที่ประชุมลงคะแนนเสียง เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ บุคคลที่นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร. โดยคะแนนเสียงจะต้องเกินกึ่งหนึ่ง (ถ้าเข้าประชุมครบ 13 คน และแคนดิเดต 3 คนออกจากห้องประชุมและงดออกเสียง จะเหลือคณะกรรมการ 10 คน ดังนั้นคนที่จะได้เป็นผบ.ตร.จะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากกรรมการอย่างน้อย 6:4 คน)
- นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป
อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่า นายกฯแพทองธาร จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 เป็น ผบ.ตร.คนที่ 15 ในที่ประชุม ก.ตร.