ข่าว

ย้อนรอย 20 ปี "คดีตากใบ" หมดอายุความ สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทย ล้มเหลว?

ย้อนรอย 20 ปี "คดีตากใบ" หมดอายุความ สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทย ล้มเหลว?

25 ต.ค. 2567

ย้อนรอย 20 ปี "คดีตากใบ" หมดอายุความ แต่ยังจับใครไม่ได้ สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทย ล้มเหลว? 85 ชีวิต ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

25 ต.ค. 2567 ครบกำหนดเส้นตาย "คดีตากใบ" เมื่อปี 2547 กำลังจะหมดอายุความในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ขณะเดียวกันสังคมกำลังจับตามองว่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่จะคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย หรืออาจไม่สามารถจับใครมาดำเนินคดีได้

ข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นประวัติศาสตร์ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลการนำของนายกรัฐมนตรี "ชินวัตร" 3 คน โดยมีจุดเริ่มต้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ส่วนการเยียวยา เกิดขึ้นในยุคของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคดีเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดในรุ่นลูก คือ แพทองธาร ชินวัตร

"คมชัดลึกออนไลน์" ชวนย้อนอ่านสรุปโศกนาฏกรรม เมื่อ 20 ปีก่อน เจ้าหน้าที่รัฐ สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ และขนย้ายผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต รวม 85 ราย

1. 4 ม.ค. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

2. 28 เม.ย. 2547 เกิดเหตุกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการ ของเจ้าหน้าที่รัฐนับสิบจุด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการปะทะกันในหลายจุด เจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผู้ก่อเหตุ เสียชีวิตหลายราย

3. 25 ต.ค. 2547 ชาวบ้านจำนวนมาก รวมตัวชุมนุม หน้า สภ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ซึ่งถูกจับกุมตัวในข้อหา มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ในเหตุปล้นปืน และก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

4. ผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหิน และพยายามจะบุกสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ จึงสลายการชุมนุม ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริง จุดนี้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก

5. ภายหลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน จากการถูกกดทับ ขาดอากาศหายใจ เนื่องจากอยู่บนรถบรรทุกทหาร กว่า 6 ชั่วโมง

6. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ระบุว่า การสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ แต่ท้ายที่สุดเมื่อปี 2565 หลังเกิดเหตุการณ์ กว่า 18 ปี ทักษิณได้กล่าวคำขอโทษต่อกรณีตากใบ เป็นครั้งแรก ผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ ระบุว่า "ถึงแม้ผมไม่ได้สั่งการ แต่ในฐานะที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผมต้องขอโทษ ขออภัย แก่บรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่สูญเสีย และผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นด้วย ถือเป็นความผิดพลาดอย่างแรงของการลำเลียงผู้ต้องหาแบบนั้น"

7. กรณีตากใบ มีการฟ้องร้องคดีตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น 4 คดี ได้แก่

คดีแกนนำการชุมนุม : พนักงานอัยการ สั่งฟ้องผู้ถูกควบคุมตัว 58 คน ในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 139 และ 215 ของประมวลกฎหมายอาญา กระทั่ง 6 พ.ย. 2549 พนักงานอัยการ ได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมด โดยอ้างเหตุว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

คดีแพ่งจากญาติผู้เสียชีวิต : ฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและทุพพลภาพ ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ ในการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ แบ่งออกเป็น 7 สำนวน ช่วงปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 จากนั้นได้มีการเจรจาและประณีประนอมกันในใชั้นศาล จนผู้เสียหายได้รับการเยียวยาทางแพ่ง จึงถือว่าเป็นอันสิ้นสุดในส่วนของคดี

คดีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม : ในระยะเวลาการสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 7 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เองไม่สามารถระบุผู้ที่ทำให้บุคคลทั้ง 7 เสียชีวิตได้ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ทำให้พนักงานอัยการได้สั่งให้ยุติการสอบสวน เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต

คดีผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย : ในการฟ้องร้องคดีที่เกิดผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน ศาลสรุปสำนวนในคดีดังกล่าวว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของทั้ง 78 คนนั้นเกิดจาก "การขาดอากาศหายใจ" ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานทำตามหน้าที่ พนักงานสอบสวน จึงได้ส่งสำนวนให้กับอัยการ ซึ่งอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง รวมไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด มีความเห็นเช่นเดียวกับอัยการ ทำให้คดีดังกล่าวสิ้นสุดลง

 

8. พ.ศ. 2555 หลังจากสิ้นสุดกระบวนการทางศาลทั้ง 4 คดี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 987 ราย วงเงินรวมกว่า 641 ล้านบาท ครอบคลุมกรณี

 

  • การเสียชีวิต จำนวน 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
  • การทุพพลภาพ จำนวน 1 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
  • การบาดเจ็บ จำนวน 49 ราย รายละระหว่าง 2.25 แสนบาทจนถึง 4.5 ล้านบาท
  • การถูกดำเนินคดี จำนวน 30 ราย รายละ 3 หมื่นบาท
  • การถูกควบคุมตัวแต่มิได้ถูกดำเนินคดี จำนวน 794 ราย รายละ 1.5 หมื่นบาท 

 

อย่างไรก็ตาม การชดเชยดังกล่าว ถือว่าเป็นการ "ชดเชยทางแพ่ง" แต่ยังไม่มีใครได้รับโทษทางอาญา ซึ่งมีอายุความ 20 ปี และจะครบกำหนดในวันที่ 25 ต.ค. 2567



9. การรื้อฟื้นคดีอาญา โดยญาติผู้เสียชีวิต เป็นผู้ฟ้องร้องประเด็น "สลายชุมนุมและควบคุมตัว" เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดี จำเลย 7 คน ข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, พยายามฆ่า, หน่วงเหนี่ยวหรือกักชัง, ข่มขืนใจ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย,เสรีภาพ" ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต รวม 78 คน

สำหรับจำเลย 7 คน ที่ศาลรับฟ้อง ประกอบด้วย

 

  • จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันลาออกจาก สส.พรรคเพื่อไทย
  • จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารรราบที่ 5
  • จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
  • จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
  • จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตากใบ
  • จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

 
10. นอกจากนี้อัยการสูงสุด ยังฟ้องร้อง ผู้ต้องหา จำนวน 8 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขนย้ายคนขึ้นรถบรรทุกทหาร ฐาน  "ร่วมกันฆ่าผู้อื่น" ประกอบด้วย 

 

  • ผู้ต้องหาที่ 1 พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ในฐานะผู้สั่งการ
  • ผู้ต้องหาที่ 2 ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 3 พลทหาร วิษณุ เลิศสงคราม พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 4 ร.ท. วิสนุการณ์ ชัยสาร ร.น. พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 5 พลหทาร ปิติ ญาณแก้ว พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 6 พ.จ.ต. รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 7 พ.ท. ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ควบคุมขบวนรถ
  • ผู้ต้องหาที่ 8 ร.ท. ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ พลขับ


25 ต.ค. 2567 ครบกำหนดเส้นตายคดีอาญาหมดอายุความ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. จะมีความพยายามระดมสรรพกำลัง เข้าตรวจค้นเป้าหมายกว่า 100 จุด แต่ก็คว้าน้ำเหลว

 

"แพทองธาร" แถลงเสียใจ ออก พ.ร.ก. ขยายอายุความ ไม่ได้


24 ต.ค. 2567 หรือ 1 วัน ก่อนคดีหมดอายุความ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า "เป็นเหตุการณ์ที่ตัวดิฉันเองเห็นก็รู้สึกเสียใจกับผู้ที่มีผลกระทบทั้งหลาย" รัฐบาลตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้ว ได้ออกมาแสดงความเสียใจ ออกมาขอโทษ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร หรือ สมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ รวมถึงอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ออกมาแสดงความเสียใจ และขอโทษต่อเหตุการณ์นี้ มีการชดเชยจ่ายค่าเยียวยาไปแล้ว


ส่วนประเด็นข้อกฎหมาย ออก พ.ร.ก.ขยายอายุความ น.ส.แพทองธาร ระบุว่า "เมื่อพิจารณาหลักการของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญกฤษฎีกาเห็นว่า เหตุการณ์​นี้​ ไม่เข้าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการตามพระราชกำหนด​หยุดอายุความ เพราะเป็นการออกมาใช้กับคดีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ  อาจจะเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม​กับคดีในลักษณะเดียวกัน​ จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ​"