ข่าว

ศาลจังหวัดนราธิวาส สั่งจำหน่าย "คดีตากใบ" เหตุขาดอายุความ-จับผู้ต้องหาไม่ได้

ศาลจังหวัดนราธิวาส สั่งจำหน่าย "คดีตากใบ" เหตุขาดอายุความ-จับผู้ต้องหาไม่ได้

28 ต.ค. 2567

ปิดฉาก! ศาลจังหวัดนราธิวาส สั่งจำหน่าย "คดีตากใบ" ออกจากสารบบความ เหตุขาดอายุความ-จับผู้ต้องหาไม่ได้

28 ต.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส อ่านคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ อ.1516/2567 ที่นางสาวฟาดีฮะห์ ปะจูกูเล็ง พวกรวม 48 คน ยื่นฟ้อง พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตเเม่ทัพภาค 4 กับพวก 9 คน เป็นจำเลย ฐานความผิด ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, พยายามฆ่า, หน่วงเหนี่ยวหรือกักชัง, ข่มขืนใจ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย,เสรีภาพ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส หรือคดีตากใบซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 คน

โดยเดิมในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลไต่สวนมูลฟ้องเเล้วเห็นว่ามีมูลมีคำสั่งประทับฟ้อง ในส่วนจำเลยที่ 1,3-6 และ 8,9 มีมูลความผิดในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย หน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงเเก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,83 มาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

เเละให้ยกฟ้อง ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขื่นใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นรับอันตรายสาหัสโดยกระทำทารุณโหดร้าย  และยกฟ้องจำเลยที่ 2 เเละ 7
 

ศาลจังหวัดนราธิวาส สั่งจำหน่าย \"คดีตากใบ\" เหตุขาดอายุความ-จับผู้ต้องหาไม่ได้ ศาลจังหวัดนราธิวาส สั่งจำหน่าย \"คดีตากใบ\" เหตุขาดอายุความ-จับผู้ต้องหาไม่ได้

เดิมศาลออกหมายเรียกจำเลยที่ 1,3-6และที่ 8,9มาสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 1,3-6และที่ 8,9 ไม่มา ศาลจึงออกหมายจับ เว้นแต่จำเลยที่  1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ศาลมีหนังสือขออนุญาตจับต่อสภาผู้แทนราษฎร และเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การฯ กับติดตามผลการจับ และขออนุญาตจับ ในวันที่ 15 ต.ค. 2567

ต่อมาวันที่ 1 ต.ค. 2567 ศาลได้รับสำเนาหนังสือของสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 24 ก.ย.2567 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีความคุ้มกันใดๆ ในชั้นพิจารณาของศาล รวมทั้งจากการจับและคุมขังในคดีอาญา ศาลจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาล เป็นผู้มีอำนาจจัดการตามหมายจับควบคู่ไปกับกับพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานตำรวจตามปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนี

ในวันนัด วันที่ 15 ต.ค. 2567 ยังไม่สามารถจับกุมจำเลยคนใดได้ ศาลไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อ ต้องเลื่อนคดีไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนีมาเสียก่อน แต่ศาลอนุญาตให้ญาติผู้ตายแถลงการณ์ด้วยวาจา เกี่ยวกับคดีนี้ แล้วมีคำลังเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี หรือนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 28 ต.ค. (วันนี้)

ในวันนัดวันนี้ ยังคงไม่สามามารถจับกุมจำเลยที่ 1,3-6 และที่ 8,9 ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิอ. มาตรา 39 (6)
 

ศาลจังหวัดนราธิวาส สั่งจำหน่าย \"คดีตากใบ\" เหตุขาดอายุความ-จับผู้ต้องหาไม่ได้

เหตุที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี แทนพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่มีปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความปรากฎต่อศาลในชั้นทำคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่คดีนี้ จำเลยที่1,3-6 และที่ 8,9ไม่เคยเข้าสู่การพิจารณา แต่หลบหนีจนคดีขาดอายุความ เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจท ทั้ง 48 ระงับ ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนคดีสำนวนสลาการชุมนุมตากใบ อีก 1 สำนวน ที่เมื่อวันที่ 12 ก.ย. อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมโดยสั่งฟ้อง พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น นั้น

เนื่องจากคดีนี้ทางพนักงานอัยการโจทก์ ยังไม่ได้มีการนำตัว 8 ผู้ต้องหา ยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดปัตตานี ซึ่งเเม้คดีจะหมดอายุความในวันเดียวกัน เเต่เนื่องจากตัวผู้ต้องหายังไม่ได้ถูกนำยื่นฟ้องต่อศาล จึงเท่ากับว่ายังไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีได้ วันนี้ศาลปัตตานีจึงยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา

ซึ่งในกรณีที่ภายหลังหากพนักงานอัยการมีการนำตัวจำเลยทั้ง 8  ยื่นฟ้องต่อศาล ตัวจำเลยก็สามารถต่อสู้เรื่องอายุความจนอันเป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องได้