อธิการบดี ม.ราม เตรียมเสนอรื้อคดี "สามารถ เจนชัยจิตรวณิช" ส่งคนสอบเเทน
อธิการบดี ม.ราม เตรียมเสนอรื้อคดี "สามารถ เจนชัยจิตรวณิช" ส่งคนสอบเเทน หลังพบหลักฐานชัด มีมูลความผิด แต่กลับมีการสั่งยุติเรื่อง
4 พ.ย. 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี ม.รามคำแหง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง แถลงข่าวปมการสอบของนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช พร้อมเปิดหลักฐานเด็ด และกรณีนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนเกี่ยวกับมหาวิทยารามคำเเหง กรณีที่มีนักศึกษารารายหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งบุคคลอื่นเข้าสอบแทน และกรณีที่อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัย 2 ราย เข้าเเจ้งความพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. กล่าวหาข้าพเจ้า นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ ประธานกรรมกิจการมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กระทำการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา นั้น เพื่อปกป้องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ในนามมหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอชี้แจงดังต่อไปนี้
1. จากเอกสารที่ปรากฏ การยุติการดำเนินการทางวินัยกับนักศึกษารายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ในสมัยที่ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยนายสืบพงษ์ ทั้งในฐานะอธิการบดี และในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.ร.) ได้เสนอรายงานผลการสอบวินัยนักศึกษาต่อ ก.บ.ม.ร. และมีมติให้ "ยุติเรื่อง" ในการประชุมครั้งที่ 14/2565 วาระที่ 5.53 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565
2. หากการยุติดังกล่าวเป็นการยุติโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย หรือถูกต้องตามกระบวนการในการดำเนินการทางวินัยนักศึกษา การแถลงข่าวของข้าพเจ้าก่อนหน้านี้ กระทำในนามมหาวิทยาลัยและเป็นการแถลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ใด และการที่สื่อมวลชนติดตามสอบถามเรื่องดังกล่าว ก็เป็นสิทธิที่สาธารณชนพึงได้รับทราบตามทำนองคลองธรรมอันเป็นเรื่องปกติทั่วไป
3. เมื่อสังคมเกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงยุติเรื่อง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญที่อาจกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาสัย ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ย่อมเป็นเรื่องปกติวิสัยในการบริหารงานมหาวิทยาลัย และการดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง มิได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยได้ข้อสรุปแล้วว่า การยุติเรื่องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากแต่เมื่อตรวจสอบแล้วยืนยันในสิ่งที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว ย่อมเป็นการทำให้สังคมได้ตระหนักว่า มหาวิทยาลัยรามคำเเหงได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ยกเว้น ในกรณีที่การยุติเรื่องเป็นการยุติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มหาวิทยาลัยก็ย่อมจักต้องพิจารณาต่อไป ส่วนจะกระทบสิทธิของนักศึกษาหรือไม่เป็นประเด็นทางกฎหมายที่แยกต่างหากออกไป โดยมหาวิทยาลัยจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
4. การที่ได้มีผู้ไปแจ้งความกล่าวโทษข้าพเจ้าด้วยข้อหาทางอาญาที่ร้ายแรง ข้าพเข้าได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัย ไปดำเนินคดีกับ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วในข้อหาแจ้งความเท็จ หรือแจ้งข้อความอันเป็นเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และข้อหาแจ้งความเท็จหรือแจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เพื่อกลั่นแกล้งให้ข้าพเจ้าได้รับโทษโดยรู้อยู่แล้วว่า มิได้มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137,176, 173และมาตรา 174 และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ใดก็ตามที่นำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่สร้างความเสียหายให้แก่ข้าพเจ้าต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ กล่าวตอบคำถามสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตอนตนเป็นรักษาการอธิการบดีฯ ตอนปี 2564 โดยก่อนที่จะพ้นวาระตนได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยมีการเชิญทุกฝ่ายมาสอบถามทั้งพยานบุคคลเเละเอกสาร มีบัญชีเซ็นชื่อนักศึกษาเเละมีการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสนอเรื่องต่อที่ประชุม ก.บ.ม.ร. ว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิด ซึ่งพอมีอธิการบดีคนใหม่ก็มีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยนักศึกษา
โดยอธิการบดีขณะนั้นเป็นคนลงนามเเต่งตั้ง เเละกรรมการก็ดำเนินการสอบสวนส่งเรื่องเข้าที่ประชุม ก.บ.ม.ร. ทั้งหมด 3 ครั้ง เเละครั้งสุดท้ายเสนอยุติเรื่อง เเต่ที่จะต้องตรวจสอบเพราะมีผู้สื่อข่าวถามเข้ามาเมื่อสังคมสงสัย ก็จะขอใช้เวลาในการตรวจสอบถึงเหตุผลในการยุติเรื่อง เพราะตอนที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบที่พบว่ามีมูลในตอนเเรกชี้ชัด เเละบุคลากรที่มีหน้าที่ควบคุมบัญชีรายชื่อถูกลงโทษทางวินัยไปเเล้ว
ตนเองในนามส่วนตัวก็สงสัยเหมือนที่ผู้สื่อข่าวสงสัย เพราะหลังจากได้ทราบเรื่องก็ได้เห็นเอกสารบางอย่าง เเต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องดูว่าเหตุผลในการยุติเรื่องจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตนไม่สามารถตอบได้ต้องส่งให้ฝ่ายกฎหมายและทางคณะผู้บริหารร่วมกันพิจารณา ส่วนจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ยืนยันว่าไม่กระทบกับสิทธิของนักศึกษาเพราะได้ทราบว่านักศึกษาท่านนี้ปัจจุบันได้มาลงเรียนต่อ จนกระทั่งจะสำเร็จการศึกษาแล้ว มีการเขียนดุษฎีนิพนธ์เสร็จเเล้ว
หลังจากนี้ตนจะทำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ว่ามติที่สั่งให้ยุติเรื่องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผลคงไม่ได้เสร็จการประชุมครั้งเดียว ซึ่งภายหลังเรื่องนี้เป็นข่าวก็มีคนส่งหลักฐานมาให้ตนไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเอกสารหรือหลักฐานที่เป็นคลิปวิดีโอ ซึ่งในสำนวนเดิมไม่มีเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่าเเบบนี้ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนผู้บริหารอีกจะมีการตั้งกรรมการสอบเรื่องเดิมอีกหรือไม่ ต้องใช้เกณฑ์อะไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงก็ไม่ควรแต่อะไรผิดก็ต้องว่าไปตามผิด อะไรถูกก็ต้องว่าตามถูก เพราะตามหลักการมหาวิทยาลัยรามคำแหงของเรา มีความเข้มงวดกวดขันและความซื่อสัตย์ทางวิชาการมาก เราไม่อยากจะเห็นความไม่ซื่อสัตย์ทางงานวิชาการมาถึงนักศึกษา โดยเรื่องนี้ถ้าหากสอบสวนแล้วพบว่าการสั่งยุติเรื่องกระทำโดยมิชอบ ก็จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมมหาวิทยาลัย พิจารณาต่อไป
ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเช็กบิลทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัย ความจริงกรณีที่มีการดำเนินคดีกัน ตนรักเขาจะตาย คนในมหาวิทยาลัยก็ทราบกันว่า สามคนที่มีการดำเนินคดีกับตนที่กองปราบ ตนรักและดูแลทานข้าวด้วยกันทุกอาทิตย์ เรื่องการเช็กบิลกลั่นแกล้งยืนยันว่าไม่มีและไม่มีอยู่ในหัวใจด้วย ปัจจุบันนี้ใครก็ตามที่เคยเชียร์ฝั่งอดีตผู้บริหาร ตนก็ไม่เคยไปรังแกกลั่นเเกล้ง เรื่องแบบนี้ไม่ได้อยู่ในหัวใจ
เมื่อถามถึงเหตุผลที่กรรมการสอบสวนวินัยเคยสั่งยุติเรื่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า ตนก็อยากพูดเหมือนกันแต่ต้องบอกว่าตอบไม่ขึ้น ซึ่งผู้ที่เข้ามาสอบยอมรับมีการเข้ามาสอบจริง แต่ผู้ที่มาสอบอ้างว่าไม่ได้มาสอบแทน และนักศึกษารายนั้นไม่ได้ให้เขาเข้ามาสอบเเทน ปกติการเข้าสอบจะต้องมีการเซ็นชื่อ แต่ผู้ที่เข้ามาสอบนั้นมีการเซ็นชื่อของนักศึกษา และไม่ได้เซ็นครั้งเดียวมีการเซ็นหลายครั้ง ส่วนเรื่องการตรวจสอบรายชื่อกับใบหน้าบุคคลสอบนั้นต้องบอกว่ากรณีนี้เราเข้าไปเจอเลยว่ามีการนั่งสอบอยู่ ส่วนวิชาที่เข้าสอบเป็นภาษาอังกฤษส่วนที่ถามว่าเป็นวิชาในหลักสูตรของปริญญาเอกหรือไม่ ตนขอตอบเเค่นี้
ต่อมาได้มีทนายความของนายสามารถ ได้สอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นในสถาบันภาษากับ หลักสูตรปริญญาเอกเป็นคนละกรณีกันใช่หรือไม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เนื่องจากมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมิฉะนั้นจะต้องเชิญทุกฝ่ายมา