เปิดความเห็น คณะอัยการ สั่งยุติคดี “ทักษิณ” ล้มล้างการปกครอง ขณะที่ อสส. เห็นแย้ง
เปิดความเห็น คณะทำงานอัยการ สั่งยุติคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครอง ขณะที่อัยการสูงสุด เห็นแย้ง สั่งสอบเพิ่มเติม
6 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงพรรคเพื่อไทย เชิญมาให้ถ้อยคำ กรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ยื่นคำร้องขอต่ออัยการสูงสุด ขอให้ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ
คณะทำงานพิจารณา กรณีมีผู้ขอให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเเล้ว มีความประสงค์ ทราบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบการพิจารณาของอัยการสูงสุด อาศัยอำนาจตาม มาตรา 16 แห่ง พรบ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 จึงขอเชิญให้ท่านไปให้ถ้อยคำพร้อมมอบพยานหลักฐาน (ถ้ามี) ต่อพนักงานอัยการ ในวันที่ 30 ต.ค.2567 เวลา 10.00น.ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี ถนนบรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร หากขัดข้องประการใดโปรดแจ้งให้ทราบด้วย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า วันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมือกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปให้ถ้อยคำต่อ พนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวน
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการเผยแพร่เอกสาร การพิจารณา คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่า ได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งจะครบกำหนดตามวันที่ศาลรัฐธรรมนูญร้องขอประมาณในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย.2567 นี้เเล้ว
โดยมีรายงานว่า เมื่อตอนที่ได้รับคำร้องจาก นายธีรยุทธ ได้มีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ก่อนส่งไปยังอัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่ง
โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า คณะทำงานมีความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีมูล ให้ยุติเรื่อง โดยให้เหตุ 2 ข้อ ข้อเเรก ที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ ข้อที่สอง ในส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมือง เป็นอำนาจวินิจฉัยของ กกต. ทางคณะทำงานจึงมีความเห็น เสนอควรยุติเรื่องไปยังอัยการสูงสุด
หลังจากนั้นอัยการสูงสุด ได้พิจารณาเเล้ว เห็นควรสั่งสอบเพิ่มเติม จากทางฝั่งผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง จนนายชูศักดิ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าให้ถ้อยคำต่ออัยการสำนักงานการสอบสวน เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
รายงานข่าว ยังมีการระบุอีกว่า สำหรับเรื่องนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีการกำชับผู้ที่เกี่ยวข้อง ห้ามให้ข่าวเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชนด้วย