มือกฎหมาย ชำแหละ "เขากระโดง" ยึดคำตัดสินศาลฎีกา ชี้ เป็นที่ดิน รฟท.
ผ่าปม "เขากระโดง" มือกฎหมายชำแหละ ยึดคำตัดสินศาลฎีกา ชี้ เป็นที่ดิน รฟท. ระบุ มติคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่เพิกถอนที่ดิน เปิดช่องอธิบดีกรมที่ดินประวิงเวลา
จากกรณีอธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พ.ค. 2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ อันเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566
โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดินและฝ่ายการช่างโยธา ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของ รฟท. ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อชี้แนวเขตและทำการรังวัดที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขาระโดง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ จนแล้วเสร็จ และจัดส่งข้อมูลการรังวัดที่ดินให้คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณา
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือแจ้ง เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอน หรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจากการรถไฟไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟ
7 พ.ย. 2567 ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ "ดร.ณัฏฐ์" นักกฎหมายมหาชนคนดัง เปิดเผยกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า กรณีที่ดินเอกสารสิทธิทับที่ดินเขากระโดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นมหากาพย์ที่ยาวนาน ประชาชนอาจสับสนว่า คำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้มติที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ของกรมที่ดิน ที่ตั้งคณะกรรมการหยิบมาพิจารณา และวินิจฉัยชี้ขาด ว่าไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. มติดังกล่าว มีผลทางกฎหมายเพียงใด
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า มติคณะกรรมการสอบสวนที่กรม ที่ดินใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินตั้งขึ้นมาตามมาตรา 61 เป็นการที่อธิบดีกรมที่ดิน ใช้อำนาจตามกฎหมายในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนที่ดินตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางหรือไม่ คำวินิจฉัยไม่เพิกถอน เป็นเพียงคณะกรรมการสอบสวนฯ วินิจฉัย เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือว่า เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนที่ดินมีผลกระทบต่อการรถไฟ ยังไม่เป็นที่สุด
หากการรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นว่ามติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับทราบผลมติวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนฯ ของชุดที่กรมที่ดินตั้งขึ้น เพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1) ประกอบมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หากไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง กระบวนการขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย สิ้นสุดทันที
ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ ที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟ
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า กรณีที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกว่า คดีเขากระโดงหากพิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876 /2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้ง ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย. 2462 เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
สิ่งที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้หยิบเอาผลของคำพิพากษาศาลฎีกา มาร้องขอให้อธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิแสดงกรรมสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ
หากพิจารณาจากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า ให้กรมที่ดินมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ จากข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว เห็นได้ว่า กรมที่ดิน มีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และอธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็ย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้กรมที่ดิน ให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้
การรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้ช่องทางนี้ ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยอ้างว่ากรมที่ดิน หน่วยงานของรัฐ อธิบดีกรมที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่
มติคณะกรรมการฯ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ได้
ดร.ณัฏฐ์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของมติคณะกรรมการสอบสวนฯ กรมที่ดิน เป็นคำสั่งทางปกครอง ใหม่ที่เกิดขึ้น แยกต่างหากจากคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลปกครองกลาง สะท้อนให้เกิดแตกเป็นคดีใหม่ คดีเดิมยังทำอะไรไม่ได้ เป็นการประวิงเวลา อีกประการหนึ่งเปิดช่องมิให้ อธิบดีกรมที่ดิน หรือ เจ้าหน้าที่ที่ดินที่เกี่ยวข้องมิให้ถูก ดำเนินคดีอาญามาตรา 157 โดยอ้างว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางแล้ว แต่มติคณะกรรมการสอบสวนไม่เพิกถอน เป็นคำสั่งทางปกกครองใหม่เกิดขึ้น ยังเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ได้
ดร.ณัฏฐ์ กล่าวทิ้งท้าย ว่า ดังนั้น ที่อธิบกรมที่ดิน หยิบเอา "แผนที่ท้ายตามพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 27 พ.ย.2465" มาหักล้าง ทำให้คณะกรรมการสอบสวน หยิบมาพิจารณาเปิดช่องใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ เป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายมหาชนในคดีปกกครอง ในการใช้คำสั่งทางปกครอง ประวิงเวลาในการเพิกกถอน ไม่ต่างจากจะต้องเริ่มฟ้องใหม่ เพราะคำพิพากษาคดีแพ่งผูกพันเฉพาะคู่ความ ไม่ได้เหมารวมถึงที่ดินแปลงอื่น เปิดช่องประวิงให้ประวิงเวลา หากใช้เวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งใหม่ ต้องใช้ระยะเวลานาน ส่งผลให้กลุ่มพรรคพวกของหมอผี บุรีรัมย์ ที่กุมอำนาจเสร็จเด็ดขาดในกระทรวงมหาดไทยขณะนี้ ใช้ประโยชน์ในที่ดินเขากระโดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอีกนาน