ข่าว

ภูมิธรรม ลงพื้นที่เกาะกูด ย้ำเป็นของไทย ชี้อาจได้เป็น ปธ.เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

ภูมิธรรม ลงพื้นที่เกาะกูด ย้ำเป็นของไทย ชี้อาจได้เป็น ปธ.เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

09 พ.ย. 2567

ภูมิธรรม ลงพื้นที่เกาะกูด สร้างความมั่นใจให้ชาวบ้าน ตอกย้ำเป็นของไทย ยอมรับอาจได้เป็น ประธานเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่าง ไทย-กัมพูชา

9 พ.ย. 2567 เวลา 10.30 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ไพโรจน์ เฟื่องจันทร์ เสนาธิการทหารเรือ และคณะ เดินทางด้วยอากาศยานกองทัพเรือ จากสนามบินดอนเมือง มายังหน่วยปฎิบัติการเกาะกูด จ.ตราด เพื่อ ตรวจเยี่ยมพื้นที่ ทักทาย ให้กำลังใจกำลังทหาร พร้อมมอบสิ่งของบำรุงขวัญ

 

โดยมี พลเรือโท อภิชาติ ทรัพย์ประเสริฐ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นายไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

 

ภูมิธรรม ลงพื้นที่เกาะกูด ย้ำเป็นของไทย ชี้อาจได้เป็น ปธ.เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

 

จากนั้นนายภูมิธรรม สักการะองค์กรมหลวงชุมพล เสร็จแล้ว กล่าวกับทหารหน่วยปฎิบัติการเกาะกูด ว่า การเดินทางมาตรวจเยี่ยมในวันนี้ ต้องการรับทราบปัญหาและชีวิตความเป็นอยู่ของกำลังทหารตามแนวชายแดน และมีหน้าที่พิทักษ์รักษาอธิปไตยของประเทศ

วันนี้อยากจะมารับรู้สถานการณ์ในพื้นที่ เป็นอย่างไร เนื่องจาก ประชาชนในกรุงเทพมหานครและบางส่วนของประเทศไทย มีความรู้สึกไม่มั่นใจและกังวลใจว่าอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ไม่ใช่ของไทย และวันนี้ที่เดินทางมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย มาตั้งแต่สนธิสัญญาฝรั่งเศส และกล่าวให้กำลังใจกำลังพลให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง มีความสุข

 

ภูมิธรรม ลงพื้นที่เกาะกูด ย้ำเป็นของไทย ชี้อาจได้เป็น ปธ.เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

 

จากนั้น นายภูมิธรรม พร้อมคณะ ร่วมประชุมรับฟังบรรยายสรุปและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนรับฟัง โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก่อนที่นายภูมิธรรม จะออกมาจากห้องประชุม มอบสิ่งของให้กำลังพล

 

โดย นายภูมิธรรม จะให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางมาครั้งนี้มาในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเกาะกูด เป็นอธิปไตยของประเทศไทย เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ทั้งบนบกและทะเล และมายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย แน่นอน ไม่ใช่เป็นของประเทศกัมพูชา ตาม MOU44 ซึ่งชาวบ้านมาทั้งถิ่นฐานกันมานานแล้ว และจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ในเรื่องนี้

ชาวบ้าน อายุ 80-90 ปี ที่อยู่ที่นี่ ก็ยังรู้สึกผูกพัน ก็ไม่ยอมให้มาล่วงเกิน แต่เมื่อมีความเข้าใจของประชาชนชาวไทยบางส่วน จนทำให้เกิดความสับสน ส่งผลให้การท่องเที่ยวของเกาะกูด ลดลงถึง 20-30% และเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจแล้ว ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะปกติ

 

นอกจากการมาในครั้งนี้แล้ว มาเพื่อยืนยันว่าเกาะกูด เป็นของไทย มีชาวบ้าน มีกองทหาร มีส่วนราชการ มีตำรวจ และอีกหลายหน่วยงาน ขอให้ทุกท่านสบายใจได้ว่า ที่นี่ประเทศไทย มีธงชาติไทยปักอยู่ทั่วอาณาบริเวณ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศอยู่

 

ภูมิธรรม ลงพื้นที่เกาะกูด ย้ำเป็นของไทย ชี้อาจได้เป็น ปธ.เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

 

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางชายแดนทั้ง 2 ฝั่ง ไปมาหาสู่กันดี ปีละ 4 ครั้ง เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีอะไรวิกฤตหรือน่ากังวล ส่วนแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานที่เกาะกูด 600 กว่าคน ก็เข้ามาทำงานถูกต้องตามกฎหมาย และขอยืนยันว่า เกาะกูดสงบ สวยงาม มีความปลอดภัย อยู่ในความดูแลของฝ่ายความมั่นคง

 

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า เข้าใจว่าตนเองน่าจะได้เป็นประธานเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่าง 2 ประเทศ ไทย-กัมพูชา จะสร้างความมั่นใจได้ว่า เกาะกูด เป็นของไทย แต่เรื่องจริงคือ ใน MOU44 ไม่ต้องเจรจาในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เป็นการเจรจาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล แต่ใน MOU44 ระบุไว้ว่า สองส่วนนี้ ต้องเจรจาไปด้วยกันอย่างสันติ และไม่ต้องกังวลว่า การเจรจานั้น ต้องไม่เอื้อนายทุน

 

ภูมิธรรม ลงพื้นที่เกาะกูด ย้ำเป็นของไทย ชี้อาจได้เป็น ปธ.เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

 

ต้องเจรจาให้คนไทยทั้งหมดเห็นชอบด้วย จะต้องเข้าสภา ให้ผ่านเห็นชอบ ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องอยู่บนกฎหมาย และประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด

 

หลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะเดินทางกลับกรุงเทพมหานครทันที ในเวลา 13.00 น.