ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ รับ-ไม่รับ คำร้อง “ทักษิณ” ล้มล้างการปกครอง 22 พ.ย.นี้
จับตาเกมนิติสงคราม ศาลรัฐธรรมนูญ รับ-ไม่รับ คำร้อง “ทักษิณ” ล้มล้างการปกครอง-ครอบงำ พรรคเพื่อไทย 22 พ.ย.นี้ สารตั้งต้นยุบพรรค
12 พ.ย. 2567 จากกรณี เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสาร การพิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดย ธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยกล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่า ได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ต่อมา มีรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว จำนวนนี้เป็นรายละเอียดในการสอบถ้อยคำ ทั้งทางฝั่งผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง โดยในส่วนผู้ถูกร้อง ไม่ได้มีการสอบถ้อยคำของ นายทักษิณ เเต่อย่างใด
แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ภายหลัง อัยการสูงสุด(อสส.) ทำหนังสือส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เดิมศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบยกคำร้องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 13 พ.ย. 2567 ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง แต่เนื่องจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ติดภารกิจราชการต่างประเทศ รวมถึงการประชุมทุกวันพุธในวันที่ 20 พ.ย. 2567 ตุลาการมีภารกิจราชการในประเทศ ดังนั้น จึงมีความเห็นพิจารณา รับ หรือ ไม่รับ คำร้องดังกล่าว ในวันที่ 22 พ.ย. 2567
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานพิจารณากรณีมีผู้ขอให้ อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 49 ได้มีหนังสือเชิญ นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง และนายทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เพื่อทราบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาของอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ในส่วนของ นายธีรยุทธ ผู้ร้อง ได้เดินทางไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อคณะทำงานของอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ส่ง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ไปให้ถ้อยคำ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว นายธีรยุทธ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ระบุพฤติกรรม 6 ข้อ ตามคำร้อง ประกอบด้วย
1. นายทักษิณ พักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แต่ใช้พรรคเพื่อไทย สั่งการกระทรวงยุติธรรม ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
2. นายทักษิณ สั่งการพรรคเพื่อไทย ให้เอื้อประโยชน์กับ สมเด็จฮุน เซน ประเทศกัมพูชา ให้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อแบ่งผลประโยชน์ ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
3. นายทักษิณ สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวก
4. นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย เจรจากับแกนนำพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เพื่อหารือเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
5. นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย ยินยอมกระทำตามที่สั่งการ
6. นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ให้นำนโยบายของตัวเองที่แสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรี ที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 12 ก.ย. 2567
นอกจากนี้ คำร้องของ นายธีรยุทธ ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ นายทักษิณ เลิกใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ , เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน ให้พรรคเพื่อไทย เลิกยินยอมให้ นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของ นายทักษิณ
เป็นที่รู้กันว่าการใช้ “นิติสงคราม” ไล่ล่า นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ในเคสของ นายธีรยุทธ อยู่ที่การใช้วิธีการเดียวกับกรณียุบพรรคก้าวไกล ด้วยการใช้เทคนิคกฎหมายยื่น “2 ขยัก” ยืมมือศาลรัฐธรรมนูญ ประทับตราพฤติกรรมตามคำร้อง
โดย นายธีรยุทธ เคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำ แสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันถือเป็นพฤติกรรมเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง
อีกทั้งไม่ให้แก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดต่อไปในอนาคตด้วย จากนั้น วันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลได้วินิจฉัยให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยกเลิกการกระทำดังกล่าว
ต่อมา นายธีรยุทธ จะหยิบยกผลผูกพันจากคำวินิจฉัย ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคก้าวไกล ในเวลาต่อมา กระทั่งวันที่ 7 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ส่งผลให้ ทั้งนายพิธา และกรรมการบริหารพรรค ถูกเพิกถอนสิทธิ์การเมืองเป็นเวลา 10 ปี ในท้ายที่สุด
กรณีของพรรคเพื่อไทย ก็มีทั้ง เหมือน และ ต่าง กับกรณีพรรคก้าวไกล โดย นายธีรยุทธ เคยอธิบายความต่าง ของทั้ง 2 กรณี ไว้ก่อนหน้านี้ว่า กรณีพรรคก้าวไกล ไม่ต้องถามความเห็นใคร เพราะใช้เทียบจากคำวินิจฉัยเดิม เทียบเคียงแล้วปะติดปะต่อ จะเห็นภาพได้ทันที
แต่ของพรรคเพื่อไทย มีความลุ่มลึก มีความซ่อนลงไปอีกชั้นหนึ่ง อันนี้ลำพังสายตาเรา ที่ประสบการณ์จำกัด อาจมองเห็นได้ไม่มากนัก แต่ยิ่งปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เข้ามากๆ ยิ่งเห็นภาพได้ชัดขึ้นเท่านั้นเอง
เวลานั้น นายธีรยุทธ ยังบอกอีกว่า ขั้นตอนต่อไป อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ท่านจะรับไว้พิจารณาหรือไม่
จึงต้องจับตาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับ หรือไม่รับคำร้อง ในวันที่ 22 พ.ย. 2567 นี้
สเต็บต่อไป หากศาล ไม่รับคำร้อง ก็จบ คำร้องดังกล่าวเป็นอันตกไป แต่ถ้า รับคำร้อง แน่นอนว่า ขั้นตอนต่างๆ จะเกิดขึ้น หลังจากนี้ย่อมถูกมองว่า ไม่ต่างกับสารตั้งต้น ที่อาจนำไปสู่การ ยื่นยุบพรรค ในอนาคต
ถึงแม้วินาทีนี้ ทักษิณ รวมถึงขุนพลพรรคเพื่อไทย จะมั่นใจว่า ชะตากรรมพรรค คงไม่มีจุดจบเหมือนพรรคก้าวไกล แต่ในแง่ของการ “ขบเหลี่ยม-ชิงเล่ห์” ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้ “นิติสงคราม” ต่างๆ พรรคเพื่อไทย ก็ใช่ว่าจะวางใจได้อย่างสนิทใจ เพราะหากเพลี่ยงพล้ำ นั่นอาจหมายถึง สูตรการเมืองที่อาจเปลี่ยนไปในทันที
โดยเฉพาะตัว นายทักษิณ นายใหญ่ ที่ย่อมเรียนรู้บทเรียนมาตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักษาชาติ
จากนี้ต้องจับตาเกมที่กำลังรุกไล่พรรคเพื่อไทย ที่อาจส่งผลต่อฉากทัศน์การเมืองของพรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาลต่อจากนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ