ข่าว

เปิดรายชื่อ บอร์ดคดีพิเศษใหม่ 9 คน ตามที่ ครม.อนุมัติ

เปิดรายชื่อ บอร์ดคดีพิเศษใหม่ 9 คน ตามที่ ครม.อนุมัติ

21 พ.ย. 2567

เปิดรายชื่อ บอร์ดคดีพิเศษชุดใหม่ 9 คน แทนชุดเดิมที่ครบวาระ 2 ปี มีทั้ง บิ๊กตำรวจ – อัยการ – นายกสมาคมทนายความ ตามที่ ครม.อนุมัติ

21 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ บอร์ดคดีพิเศษ จำนวน 9 คน  เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิม ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 2 ปี ดังนี้

 

  1. นายเพ็ชร ชินบุตร (ด้านเศรษฐศาสตร์)
  2. นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม (ด้านการเงินการธนาคาร)
  3. นางดวงตา ตันโช (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)
  4. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ (ด้านกฎหมาย)
  5. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์  (ด้านกฎหมาย)
  6. นางทัชมัย ฤกษะสุต (ด้านกฎหมาย)
  7. พลตำรวจเอก สุทิน ทรัพย์พ่วง (ด้านการสอบสวนคดีอาญา)
  8. พลตำรวจโท สำราญ นวลมา  (ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
  9. พลตำรวจเอก มนู เมฆหมอก  (ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล)

โดยในส่วนประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ โดยหลักการจะเป็นนายกรัฐมนตรี เเต่ที่ผ่านมาก็จะมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูเเลด้านความมั่นคง มานั่งเป็นประธาน ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งปัจจุบันเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี

 

เเละจะมีคณะกรรมการคดีพิเศษโดยตำเเหน่งที่มาจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ อัยการสูงสุด , สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ,  ดีเอสไอ ,  สภาทนายความฯ  เเละ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ

 

โดยบทบาทสำคัญของคณะกรรมการคดีพิเศษ คือ การรับเรื่องดำเนินการเป็นคดีพิเศษ ซึ่งปกติเเล้วการรับคดีเป็นคดีพิเศษจะมี 2 ประเภท คือ เข้าเกณฑ์ที่ต้องรับโดยอัตโนมัติ อาทิ คดีมีผู้เสียหาย 100 คน ความเสียหายเกิน 300 ล้านบาท เเละเงื่อนไขตามกฎหมายอื่นๆ

เเต่ในส่วนคดีอาญาทั่วไป ที่ทางดีเอสไอไปสืบสวนเรื่อง เเละเห็นควรเสนอให้รับไว้เป็นคดีพิเศษก็จะเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติเห็นควร 2 ใน 3 จึงจะรับไว้เป็นคดีพิเศษ โดยมีอำนาจรับคดีไว้ได้ เเม้กระทั่งบางคดีที่อยู่ในอำนาจของตำรวจเเล้ว

 

สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ในชุดนี้มีบุคคลที่น่าสนใจในสายกฎหมาย คือ  นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ ที่ล่าสุด ได้รับเเต่งตั้งจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ในคดีดิไอคอน 

 

ชาติพงษ์ จีระพันธุ

 

ทั้งยังเคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายกรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ (พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.) และเคหะสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา หากมีคดีที่เกี่ยวพันถึงข้าราชการระดับสูง หรือ คดีอิทธิพลต่างๆ จะมีการดึง นายชาติพงษ์ เข้ามาเป็นกรรมการ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเเม่นยำในข้อกฎหมาย เเละเคยเป็นอดีตรองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) ซึ่งในสมัยเป็นอัยการ มีฝีมือเรื่องปราบการทุจริตคอร์รัปชัน และประสบการณ์มากมาย เคยเป็นรองอธิบดีอัยการคดีพิเศษ และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ ยังเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ที่คุมคดีสำคัญของสำนักงานคดีพิเศษหลายคดี  อาทิ คดีนิติบุคคล ฟิลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ซึ่งขณะนั้นมีกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ ในเรื่องนี้ที่องค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ , คดีทุจริต สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเกี่ยวพันถึงคดีทุจริตฟอกเงินเครือข่ายวัดธรรมกาย , คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร , คดีทุจริตการฟอกเงินในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน , เคยเป็นกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องบอส ลูกนักธุรกิจชื่อดัง ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต

 

เปิดรายชื่อ บอร์ดคดีพิเศษใหม่ 9 คน ตามที่ ครม.อนุมัติ

 

ในสายกฎหมายยังมีบุคคลที่น่าสนใจ คือ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย 6 สมัยติดต่อกัน ผ่านมามีบทบาทในการนำสมาคมทนายความช่วยเหลือประชาชน ทุกระดับ เเละทำคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างโชกโชน เเละคดีของนักการเมืองดังมีชื่อเสียง

 

ที่ผ่านมามีการให้ความเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเเละข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นทีมกฎหมายทำคดี ที่มีมูลค่าสูงที่เกี่ยวกับรัฐ หรือบริษัทนายทุนยักษ์ใหญ่ ถือเป็นทนายความระดับบรมครูที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน

 

สำหรับ อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ของคณะกรรมการคดีพิเศษตามกฎหมายเป็นไปตามมาตรา 10 แห่ง พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ดังนี้

  1. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษ ตามมาตรา 21วรรรคหนึ่ง (1)
  2. กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21วรรคหนึ่ง (1)
  3. มีมติเกี่ยวกับคดีความผิดทางอาญาอื่นตามมาตรา 21วรรคหนึ่ง (2)
  4. กำหนดข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ตามที่มีบทบัญญัติกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคดีพิเศษ
  5. ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตาม พรบ.นี้
  6. ให้ความเห็นชอบหลักสูตรสอบสวนคดีพิเศษ
  7. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย

 

(1) การมีมติตามมาตรา 21วรรคท้าย เพื่อชี้ขาดกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือมีข้อสงสัยว่า การกระทำความผิดใดเป็นคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่

 

(2) การให้ความเห็นชอบคดีพิเศษคดีหนึ่งคดีใดหรือคดีประเภทใดต้องมีพนักงานอัยการหรืออัยการทหารมาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา 32

 

(3) การมีมติให้คดีพิเศษที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ประกาศใช้และคดียังไม่ถึงที่สุดมาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 44 ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการคดีพิเศษดำเนินการโดยผ่านกระบวนการประชุม ตามมาตรา 11 แห่ง พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้กับการประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษโดยอนุโลม

 

และตามมาตรา 12 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการคดีพิเศษแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษกำหนด โดยกำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมกรรมการ ที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย