ข่าว

"อัยการธนกฤต" กางเเนวคำวินิจฉัยศาล รธน. คดีล้มล้างการปกครอง

"อัยการธนกฤต" กางเเนวคำวินิจฉัยศาล รธน. คดีล้มล้างการปกครอง

21 พ.ย. 2567

"อัยการธนกฤต" กางเเนวคำวินิจฉัยศาล รธน. คดีล้มล้างการปกครอง การกระทำต้องชัดเพียงพอ ใช้เฉพาะข้อมูลจากสื่อไม่ได้

21 พ.ย. 2567 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความ และกฎหมายพยานหลักฐาน ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความเห็นข้อกฎหมายประเด็นสำคัญในการวินิจฉัยคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ตามแนวคำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความว่า

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมายแก่ผู้สนใจศึกษาถึงแนวคำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญกรณีมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างอิงจากแนวคำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 1/2563, 19/2564, 3/2567 และ 20/2567  และคำสั่งที่ 1/2564, 2/2565, 40/2566, 14/2567 และ 30/2567 โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นคดีไหนแต่อย่างใด

ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยกรณีมีผู้ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ดังนี้

1. การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เพื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์หรือการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

โดยมีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น จึงจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมาย และความประสงค์ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ และจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้

2. เนื่องจากการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 เป็นการที่ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ จึงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

ดังนั้น ประเด็นตามคำร้องที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะต้องอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยด้วย เช่น หากเป็นการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง หรือ คำร้องขอให้ยุติการกระทำที่เป็นการครอบงำพรรคการเมือง ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

เนื่องจากการยุบพรรคการเมืองและการครอบงำพรรคการเมืองนั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะเป็นผู้ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่

หากเห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนต่อไป