ข่าว

รวมคดีเขย่าการเมืองไทย 2567 ปีงูใหญ่ดุ กัดจมเขี้ยว รัดแรง

รวมคดีเขย่าการเมืองไทย 2567 ปีงูใหญ่ดุ กัดจมเขี้ยว รัดแรง

24 ธ.ค. 2567

รวมคดีสะเทือนการเมืองไทย ปี 2567 มะโรงกัดจมเขี้ยว รัดแรง หลากหลายสถานการณ์ ทำหมัน แช่แข็ง จุดพลิกผันการเมือง สู่รัฐบาลแพทองธาร

ปี 2567 งูใหญ่ฟาดฟันการเมืองสาหัสหนักหน่วง เป็นปีแห่งการทำหมัน แช่แข็ง เกิดจุดเปลี่ยน จุดพลิกผันการเมืองไทย

 

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยคดีการเมืองไทยหลายคดี มีทั้งเป็นไปตามคาด และคาดไม่ถึง

 

คดียุบพรรคก้าวไกล

 

7 ส.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยมีมติเอกฉันท์ และ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ดำรงตำแห่ง ระหว่าง 24 มี.ค.2564 - 31ม.ค. 2567 กำหนด 10 ปี ห้ามจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่กำหนด 10 ปี 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

เป็นไปตามคำร้องที่คณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

 

โดยคำร้องดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นมติเอกฉันท์ ในวันที่ 31 ม.ค.2567 ว่าการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ที่ 3/2567 แล้ว เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตจาบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าลักษณะการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย

รวมคดีเขย่าการเมืองไทย 2567 ปีงูใหญ่ดุ กัดจมเขี้ยว รัดแรง

 

ผู้ถูกร้องและสมาชิกพรรค เสนอแก้ไข มาตรา 112 ลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และหาเสียง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ ใช้ประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์หวังให้ชนะการเลือกตั้ง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตีติเตียน ทำร้ายจิตใจของชาวไทยที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

จึงเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพัน รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรค4 การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเคร่งครัดระมัดระวัง

 

หากย้อนปฐมบทแห่งคดี เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2566 โดยวันที่ 30 พ.ค.2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล  เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เพื่อขอให้อัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล

 

ต่อมา วันที่ 16 มิ.ย. 2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2566

 

กระทั่ง วันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 โดยมีมติเอกฉันท์ ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ

 

จากนั้น วันที่ 1 ก.พ. 2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ กกต.พิจารณาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคก้าวไกล ในประเด็นเดียวกัน

 

วันที่ 12 มี.ค. 2567 กกต.มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยุบพรรคก้าวไกล จากนั้น วันที่ 3 เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องของ กกต. โดยให้พรรคก้าวไกลยื่นคำร้องชี้แจง  

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

เมื่อคดีใกล้งวด วันที่ 9 มิ.ย.2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลง 9 ข้อต่อสู้ ในคดียุบพรรคก้าวไกล สรุปดังนี้

  1. การวินิจฉัยคดียุบพรรคไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
  2. การยื่นคำร้องในคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลไม่มีผลผูกพันในการวินิจฉัยคดีนี้
  4. นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคำร้องไม่ได้เป็นการกระทำของพรรค
  5. การกระทำที่ กกต.กล่าวหาไม่เป็นการล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 
  6. ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล โทษยุบพรรคต้องให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ ของพรรคการเมือง และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็นฉุกเฉิน ฉันพลัน ไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย
  7. แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค
  8. การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ต้องพอสมควรแก่เหตุ ไม่เกิน 5 ปี
  9. การเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

 

จากนั้น วันที่ 2 ส.ค. 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายชัยธวัช ตุลาธน แถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล เป็นครั้งสุดท้าย

 

กระทั่ง วันที่ 7 ส.ค. 2567ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี 

 

กำเนิดพรรคประชาชน

 

ห้วงเวลาการชี้ชะตาพรรคก้าวไกล มีกระแสสะพัดว่า สมาชิกพรรคเตรียมเทคโอเวอร์ ย้ายรังใหม่ ไปอยู่พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล โดยในตอนแรกมีชื่อ ไหม ศิริกัญญา ตันสกุล เป็นตัวเต็งผู้นำหญิงรุ่นใหม่

 

รวมคดีเขย่าการเมืองไทย 2567 ปีงูใหญ่ดุ กัดจมเขี้ยว รัดแรง

 

และภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลเดินเกมเร็ว คล้ายวางแผนรับมือกับสถานการณ์อยู่แล้ว โดยวันที่ 9 ส.ค. 2567 เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ได้รับเลือกเป็นผู้นำคนใหม่ เปิดตัวบ้านหลังใหม่ พรรคประชาชน (ปชน.) โดยเปลี่ยนชื่อมาจาก พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล

 

"เศรษฐา - ครม." พ้นจากตำแหน่ง

 

อีกคดีที่เป็น จุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง โค่นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 )

 

ในคดีที่ 40 สว. ยื่นคำร้องผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อ 15 พ.ค.2567  ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 หลังพบว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

พิชิต ชื่นบาน

 

กรณีกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯเสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่เคยต้องคดีจำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีถุงขนม 2 ล้านบาท ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2567 

 

อย่างไรก็ดี พบว่า นายพิชิต ชื่นบาน สยบปมร้อนด้วยการชิงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 24 วัน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งรับคำร้องและมีคำวินิจฉัย

 

23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มี มติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในส่วนของนายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 แต่ไม่รับคำร้องในส่วนของนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เนื่องจากลาออกจากตำแหน่งแล้ว

 

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้คุณสมบัติของนายพิชิต ก่อนการแต่งตั้ง แต่ยังคงเสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมปฏิบัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง การกระทำเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของนายกฯ เพราะการแต่งตั้งต้องใช้วิจารณญาณ การที่อ้างว่าไม่มีความรู้ทางรัฐศาสตร์ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง รัฐมนตรีจึงต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ 

 

ปิดฉาก บทบาทนายกรัฐมนตรี 84 วัน ของ นายเศรษฐา ทวีสิน ในทันที

 

แพทองธาร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31

 

พลันที่ นายเศรษฐา พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดินเกมเร็ว ไม่ทอดเวลาให้ยืดเยื้อยาวนาน

 

เย็นวันที่ 15 ส.ค.2567 แกนนำจาก 11 พรรคร่วมรัฐบาล ประชุมกันที่ชั้น 9 อาคารชินวัตร 3 นำโดย นายภูมิธรรม เวชชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรี , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย , นายอนุทิน ชาญชีวรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ,

 

แพทองธาร ชินวัตร

 

นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ , พ.ต.อ.เอก ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ , นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา , นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนากล้า , พรรคเพื่อไทยรวมพลัง , พรรคเสรีรวมไทย  , พรรคท้องที่ไทย , พรรคพลังสังคมใหม่ จากนั้นทั้งหมด ร่วมกันแถลงข่าว การเสนอรายชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพียงคนเดียว เข้าโหวตในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ในวันที่ 16 ส.ค. 2567

 

กระทั่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16 ธ.ค. 2567  โหวตเห็นชอบ 319 :  145 เสียง งดออกเสียง 27 คน ให้ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 

 

------------------

 

ร่วมเสนอชื่อ "คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 21" (18.12.2024 - 09.01.25)

• FB : คมชัดลึก อวอร์ด (komchadluek award) https://www.facebook.com/KomChadLuekAward/

• Web : คมชัดลึก (http://awards.komchadluek.net)