'แปลงนาอัจฉริยะ' ลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
นายอิสระพงศ์ บุตรจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา เผย 'แปลงนาอัจฉริยะ' ลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญกับสังคมไทย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรม จึงมีโครงการต่างๆมากมายที่สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ราคาข้าวมีราคาถูก แต่ต้นทุนในการผลิตมีราคาสูงขึ้น จึงเกิดเป็นโครงการแปลงนาอัจฉริยะ เพื่อช่วยปรับพื้นที่แปลงนาให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกที่สะดวกสบายขึ้นประหยัดต้นทุนและมีรายได้มากขึ้น
นายอิสระพงศ์ บุตรจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา กล่าวว่าทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวโครงการต่างๆเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงโครงการของกรมการข้าวและมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการสร้างความรับรู้ตระหนักรู้เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ถึงกรรมวิธีต่างๆในการเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและการปลูกข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายพิษณุ หินตั้ง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่าโครงการต่างๆที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการลดต้นทุน ได้ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านทางศูนย์ข้าวชุมชนโดยนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในโครงการแปลงเกษตรอัจฉริยะ 1 อำเภอ 1 แปลง โดยนำเอาเทคโนโลยีมาลงใช้ปฏิบัติจริงในแปลงของกลุ่มสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนที่ทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาได้สนับสนุนดูแล ตั้งแต่การเริ่มเตรียมดินไปจนถึงการกำจัดวัชพืช เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต
เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ปรับพื้นที่แปลงนาด้วยเลเซอร์ทำให้แปลงนาราบเรียบทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี ควบคุมระดับน้ำได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาลเพาะปลูก ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นและประหยัดต้นทุนในการผลิต
นางกำไล ระวังโค เกษตรกรบ้านโนนกระสังหมู่ที่ 6 ตำบลกระเบื้องใหญ่อำเภอพิมายจังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า การทำการเกษตรหรือการปลูกข้าวที่ผ่านมาเป็นการทำการเกษตรแบบบ้านๆ ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นการปลูกข้าวแบบที่ต้องลงทุนเยอะมีต้นทุนในการผลิตสูง ส่งผลให้หลังเก็บเกี่ยวเหลือกำไรไม่เยอะ ณ ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาจึงได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและเกิดการลดต้นทุนในการผลิต
นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัย ทำให้การทำนาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวง่ายขึ้น จากเดิมการปรับพื้นที่นาต้องใช้การปรับด้วยสายตาและต้องใช้ระดับน้ำในการปรับพื้นนาให้ราบเรียบ ต้องมีการไถให้พื้นนาให้เกิดเป็นดินเลน จึงจะสามารถทำการปรับพื้นนาได้โดยการดันดินเลนให้พื้นนาเกิดความราบเรียบ ซึ่งใช้เวลานานและยุ่งยากกว่าการปรับพื้นนาด้วยเลเซอร์ ด้วยเหตุนี้โครงการแปลงเกษตรอัจฉริยะ 1 อำเภอ 1 แปลงจึงมีความสำคัญในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้กับเกษตรกรและทำให้เกษตรกรมีผลผลิตในการเก็บเกี่ยวที่มากขึ้น
จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือชาวนาส่วนใหญ่ทำนาปี เนื่องจากคลองส่งน้ำหรือระบบชลประทานยังไม่ครอบคลุมเท่ากับเกษตรกรในภาคกลาง ทำให้เกิดปัญหาไม่ท่วมก็แล้ง บริเวณที่เป็นเนินสูงจะทำให้แปลงข้าวเสียหายข้าวตายเนื่องจากขาดน้ำ และในพื้นที่ราบลุ่มข้าวก็เสียหายหรือตายด้วยเช่นกันเนื่องจากน้ำท่วมข้าว ดังนั้นโครงการแปลงเกษตรอัจฉริยะ 1 อำเภอ 1 แปลงจึงมีความสำคัญในการสนับสนุนการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น