ข่าว

ลุยฝึกอบรมสร้างคน 'โดรน' พ่นสาร หว่านปุ๋ยอย่างมีความรู้-ถูกกฎหมาย

ลุยฝึกอบรมสร้างคน 'โดรน' พ่นสาร หว่านปุ๋ยอย่างมีความรู้-ถูกกฎหมาย

09 มิ.ย. 2566

ลุยฝึกอบรมสร้างคน 'โดรน' พ่นสาร หว่านปุ๋ยอย่างมีความรู้-ถูกกฎหมาย การอบรมครั้งนี้จึงมุ่งเน้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ผู้พ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรและผู้สนใจ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีจรรยาบรรณที่ดีเพื่อก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

จากความสำเร็จในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 6 -7 มี.ค. 2566  ณ จังหวัดร้อยเอ็ด กรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยานรุ่นที่ 2 ณ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม
    
 

ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับจ้างและเกษตรกรผู้พ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน (โดรน) ได้พ่นสารกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน รวมถึงการหว่านปุ๋ย เมล็ดพันธุ์และการถ่ายภาพอย่างผู้มีองค์ความรู้ โดยใช้เครื่องมือนี้อย่างถูกต้องและปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงต้องขอใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
    

จากข้อมูลการขอขึ้นทะเบียนอากาศยานที่ใช้ทางการเกษตรในปี  2563 มีการขอขึ้นทะเบียนจำนวน 1,271ลำ ปี 2564 จำนวน 4,718 ลำ และในปี 2565 ขอขึ้นทะเบียน 9,049 ลำ รวม ณ ปัจจุบันที่ขอขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 15,000 ลำ และในอนาคตคาดจะมีการขอขึ้นทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเกษตรกรไทยทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ โดยใช้ทรัพยากรและแรงงานลดลง รวมถึงช่วยยกระดับภาคการเกษตรของไทยในภาพรวม
 

"กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน โดยตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2566 ต้องมีผู้ผ่านการฝึกอบรม 2,000 ราย และจะดำเนินการให้ครบ 10,000 ราย ในปีงบประมาณ 2568"
 

นายระพีภัทร์  กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรมีอีกหน้าที่คือ การควบคุมการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย  การอบรมครั้งนี้จึงมุ่งเน้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ผู้พ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรและผู้สนใจ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีจรรยาบรรณที่ดีเพื่อก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม โดยมีผู้ผ่านการอบรม 85 คน ทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้สนใจ ผู้ผ่านการอบรมได้รับเกียรติบัตรจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพการเกษตร หรือรับจ้างในการพ่นวัตถุอันตรายด้วยอากาศยานไร้คนขับได้อย่างมีประสิทธิภาพ