ข่าว

วันสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก รณรงค์ป้องกันโรคด้วยวัคซีน

วันสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก รณรงค์ป้องกันโรคด้วยวัคซีน

01 ธ.ค. 2566

ในเดือนพฤศจิกายนเป็น “วันสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก” (World Immunization Day) มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน

ในเดือนพฤศจิกายน เป็น “วันสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก” (World Immunization Day) ที่ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน โดยวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดการแพร่กระจายของโรคระบาด ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ประมาณ 3.5 - 5 ล้านคนต่อปีจากโรคต่าง ๆ ทั้ง โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ และหัด 

 

 

พญ.พธู บุญมหิทธิสุทธิ์

 

พญ.พธู บุญมหิทธิสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ แผนกวัคซีน บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK บริษัท Biopharma กล่าวว่า GSK ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัยยาและวัคซีนเพื่อให้สามารถก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ และ GSK พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ถือเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย จึงควรเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรค การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เพื่อป้องกันการเกิดโรค ลดความรุนแรงของโรคและลดการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ประชาชนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพกับแพทย์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และหาแนวทางการป้องกันโรคที่เหมาะสม เช่น การรับวัคซีน

ปัจจุบันมีหลายโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นสำหรับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ รวมถึง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

 

นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ

 

นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเป็นตัวช่วยวิธีหนึ่งสำหรับการป้องกันโรคงูสวัด ซึ่ง 9 ใน 10 ของคนที่อายุมากกว่า 50 ปี มีเชื้อไวรัสก่อโรคงูสวัดอยู่ในร่างกาย โดยเป็นเชื้อก่อโรคตัวเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ถึงแม้จะหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เมื่อภูมิต้านทานลดลง เชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ที่ปมประสาทอยู่เงียบ ๆ จะแผลงฤทธิ์อีกรอบในรูปของโรคงูสวัด เกิดเป็นตุ่มน้ำใสตามแถบของร่างกาย ทำให้เกิดแผลเป็นที่ลำตัว แขน ขา หรือที่ใบหน้า นอกจากทำให้เกิดแผลเป็นแล้ว ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากงูสวัดยิ่งร้ายแรงมากกว่า 

 

โรคงูสวัด

“โรคงูสวัดเป็นโรคที่มีภัยซ่อนเร้นมากมาย ที่อาจนึกไม่ถึง แต่สามารถป้องกันได้ เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานกับโรคงูสวัด บางคนมีอาการปวดจากโรคงูสวัดนานเป็นเดือน บางคนปวดนานเป็นปี เพราะอาการปวดปลายประสาทมีความรุนแรงมาก นอกจากนี้อาจทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบ และ ตีบตัน สามารถทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตขึ้นได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและรุนแรงมาก กลุ่มเสี่ยงต่อโรคงูสวัด คือกลุ่มที่อายุมากกว่า 50 ปีทุกคน และกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ล่าสุด มีข้อมูลการศึกษาออกมาแล้วว่า วัคซีนสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดได้” นพ. วีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ข้อมูล
1.    World Health Organization. 2023. Vaccines and immunization – Overview, 2023. [Online]. Available at: https://www.who.int/health-topics/vaccines-and-immunization#tab=tab_1 [13 November 2023]. 
2.    Kilgore PE, et al. J Med Virol. 2003;70(suppl 1):S111-S8.
3.    Cohen Jl et al. N Engl J Med 2013:369:255-263